xs
xsm
sm
md
lg

BAY คงเป้าจีดีพีที่ระดับ 3% คาดเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องแตะ 35.50 สิ้นปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แบงก์กรุงศรีฯ คาดเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องอยู่ที่ 35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สิ้นปีนี้ พร้อมคงอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยที่ระดับ 3% เพราะผลกระทบจาก Brexit ต่อไทยค่อนข้างจำกัด และมีผลบวกมาจากการลงทุนภาครัฐที่จะนำร่องให้ภาคเอกชนเกิดความเชื่อมั่น

นายตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY กล่าวว่า แนวโน้มตลาดการเงินในช่วงครึ่งปีหลังยังมีความผันผวนจากผลกระทบที่อังกฤษลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit ส่งผลให้เงินปอนด์อ่อนค่าสุดในรอบ 31 ปี โดยคาดว่าเงินปอนด์อยู่ที่ 1.20 ปอนด์ต่อดอลลาร์สหรัฐ สิ้นปีนี้ และต้องจับตาค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องจากเงินทุนไหลเข้า โดยมีแนวโน้มการเคลื่อนไหวของค่าเงินที่ 35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงสิ้นปี และจะแข็งค่าถึง 35.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาส 1/2560 และ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาส 2/2560 เนื่องจากธนาคารกลางอังกฤษ และยุโรป มีแนวโน้มใช้มาตรการผ่อนคลายการเงินเพิ่ม และอังกฤษดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0 ในไตรมาส 4 ส่งผลให้สภาพคล่องในระบบมีมากขึ้น และต่างชาติจะนำเงินมาลงทุนในประเทศเกิดใหม่เพื่อหาผลตอบแทนที่สูง ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระหว่างเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน 2559 แต่มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเดือนธันวาคม หลังทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐที่จะมีขึ้นเดือนพฤศจิกายนนี้

ขณะที่ค่าเงินเยนมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง คาดว่าสิ้นปีเงินเยนจะแข็งค่ามาอยู่ที่ 0.3620 เยนต่อบาท ส่วนเงินปอนด์อ่อนค่าอยู่ที่ 43.90 ปอนด์ต่อบาท และเงินยูโรอ่อนค่าอยู่ที่ 38 ยูโรต่อบาท ดังนั้น เอกชนควรป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศในช่วงครึ่งปีหลัง

ส่วนทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะมีทิศทางดีขึ้นตามบรรยากาศที่เริ่มฟื้นตัว คาดว่าจีดีพีทั้งปีจะขยายตัวร้อยละ 3 เท่าประมาณการครั้งก่อน เพราะผลกระทบจาก Brexit ต่อไทยค่อนข้างจำกัด และมีผลบวกมาจากการลงทุนภาครัฐที่จะนำร่องให้ภาคเอกชนเกิดความเชื่อมั่น ประกอบกับต้นทุนราคาน้ำมันยังต่ำ คาดว่าอยู่ที่ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และดอกเบี้ยนโยบายยังอยู่ระดับต่ำที่ร้อยละ 1.5 รวมทั้งยังมีมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินจากภาครัฐที่จะกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจเอสเอ็มอี ปัญหาภัยแล้งบรรเทาลง และธุรกิจภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี ขณะที่ปัจจัยลบ คือ เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวเปราะบาง ปัญหาโครงสร้างภาคการส่งออกที่สินค้าไทยยังล้าสมัย และหนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ระดับสูง
กำลังโหลดความคิดเห็น