xs
xsm
sm
md
lg

“คลัง” คาดหวัง ปชช.มีรายได้คนละ 4 หมื่น “แบงก์ชาติ” มองตลาดเงินโลกยังผันผวนสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปลัด “คลัง” คาดหวังให้คนไทยมีรายได้ถึง 40,000 บาทต่อคน ภายในปี 2575 ลั่นกระตุ้นเอกชนเริ่มลงทุนเต็มสูบภายในปีนี้ ยอมรับรัฐบาลจะไม่ต่ออายุมาตรการส่งเสริมการลงทุนแล้ว ด้านผู้ว่าการ ธปท.เตือนอย่าประมาทความผันผวนตลาดเงินโลกยังสูง ค่าเงินบาท และราคาสินทรัพย์สามารถเคลื่อนไหวทั้งขึ้น และลง การคาดการณ์ทิศทางค่าเงินบาททางใดทางหนึ่งอาจเสียหายได้ ย้ำชัด ธปท.ยังไม่จำเป็นปรับนโยบายการเงินผ่อนคลาย เหตุเงินเฟ้อเป็นไปตามคาดการณ์

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวในการสัมมนา “โอกาสประเทศไทย” ซึ่งจัดโดย บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) โดยระบุว่า หลังจากรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาส 1/2559 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 3.2 ซึ่งถือว่าเพียงพอระดับหนึ่ง แต่รัฐบาลต้องการให้เศรษฐกิจโตเต็มศักยภาพไม่ใช่แค่เชิงปริมาณเพียงอย่างเดียว พร้อมกับสร้างความยั่งยืนตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่วางเอาไว้

ดังนั้น ประเทศไทยต้องมีมาตรการต่างๆ มาเสริม ล่าสุด รัฐบาลต่ออายุมาตรการส่งเสริมการลงทุนจนถึงสิ้นปี 2559 ซึ่งจะเป็นการต่ออายุครั้งสุดท้ายเพื่อเร่งให้เอกชนลงทุนภายในปีนี้ พร้อมกับการเดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วยการกระจายรายได้ เพื่อสร้างความมั่นคง และยั่งยืนให้เศรษฐกิจเติบโตได้เต็มศักยภาพ

นายสมชัย กล่าวว่า สิ่งที่กระทรวงการคลังต้องการทำเพื่อให้ภายในปี 2575 คนไทยมีรายได้ 40,000 บาทต่อคน โดยผู้มีรายได้น้อยร้อยละ 10 ของจำนวนทั้งหมด จะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน ลดการคอร์รัปชันในประเทศ พร้อมปฏิรูปการศึกษาทุกระดับให้ประชาชนมีความรู้ด้านการเงิน และเทคโนโลยีอยู่ใน 10 อันดับแรกของโลก

ด้าน นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไปจากการใช้จ่ายภาครัฐ และการท่องเที่ยว โดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ร้อยละ 3.1 ขณะที่การส่งออกยังไม่เข้มแข็งจากการหดตัวจากเศรษฐกิจจีน และเอเชีย ทำให้อุตสาหกรรมชะลอการตัดสินใจลงทุน

อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาครัฐที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจะกระตุ้นให้เอกชนลงทุนตามในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ตามที่คาดหมาย ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถการแข่งขันของไทยให้สูงขึ้นอีก หลังจากสถาบันการจัดการนานาชาติ (ไอเอ็มดี ) ปรับเพิ่มอันดับขีดความสามารถของไทยดีขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 28 จากเดิมอยู่ที่ 30 ซึ่งไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่อันดับปรับเพิ่มขึ้น สะท้อนว่ารัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจจนทำให้เศรษฐกิจมีศักยภาพ

ส่วนอัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2559 ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศออกมาอยู่ที่ร้อยละ 0.46 นั้น ซึ่งเงินเฟ้อเป็นบวกเดือนที่ 2 ก็เป็นไปตามคาดการณ์ โดย ธปท.มองว่า เงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวกในไตรมาส 2 และคาดว่าจะกลับมาอยู่ที่ร้อยละ 1 ปลายปีนี้ เพราะมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยยืนยันกรอบเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นที่ ธปท.ดำเนินการมีความเหมาะสมต่อเศรษฐกิจไทย

ผู้ว่าการ ธปท.ยืนยันชัดเจนว่า ขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในขณะนี้ยังเป็นไปตามที่ ธปท.ได้ประเมินไว้ว่า จะพลิกเป็นบวกในไตรมาส 2 และอัตราเงินเฟ้อในปีนี้อาจแตะกรอบล่างของคาดการณ์

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวย้ำว่า กรอบเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นที่ ธปท.ดำเนินการมีความเหมาะสมต่อเศรษฐกิจไทย และแม้ว่าเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวก แต่การคาดการณ์ล่วงหน้า ธปท.จึงยังจำเป็นที่จะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป

ผู้ว่าการ ธปท.ยังกล่าวด้วยว่า แม้ความผันผวนของตลาดการเงินในช่วงนี้จะลดลงจากช่วงต้นปี 2559 แต่ระยะข้างหน้าความผันผวนยังคงมีอยู่จากปัจจัยต่างประเทศ คือ การชะลอตัว และการปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจจีน การลงประชามติของสหราชอาณาจักรว่าจะออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือไม่ การดำเนินนโยบายการเงินที่ต่างกันของธนาคารกลาง

ดังนั้น ค่าเงินบาท และราคาสินทรัพย์สามารถเคลื่อนไหวทั้งขึ้น และลง การคาดการณ์ทิศทางค่าเงินบาททางใดทางหนึ่งอาจเสียหายได้ ซึ่ง ธปท.ย้ำว่าจะดูแลค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องต่อตลาด หากผันผวนรุนแรงจนมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ธปท.จะพิจารณาใช้เครื่องมือดูแลอย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าฐานะต่างประเทศของไทยแข็งแกร่งเป็นกันชนรองรับความผันผวนจากต่างประเทศได้ดี โดยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึงร้อยละ 9 ของจีดีพี เงินสำรองระหว่างประเทศถึง 3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ขณะที่พันธบัตรที่ต่างประเทศถือครองคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9 ซึ่งถือว่าต่ำหากเทียบกับต่างประเทศที่มีสัดส่วนต่างชาติถือครองพันธบัตรถึงร้อยละ 30 อย่างไรก็ตาม เอกชนต้องป้องกันความเสี่ยงควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างรอบคอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น