ไม่มีข้อกำหนดใดห้ามผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนซื้อขายหุ้นตัวเอง แต่เป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่า ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับหุ้นตัวเอง ไม่ว่ากรณีใดๆ
เพราะหน้าที่หลักของฝ่ายบริหารคือ การก้มหน้าก้มตาทำงานเพื่อสร้างผลประกอบการที่ดี ส่งผลตอบแทนคืนสู่ผู้ถือหุ้น โดยไม่ฝักใฝ่กับราคาหุ้น ไม่มีหน้าที่ดูแลราคาหุ้นไม่ว่าหุ้นจะขึ้นหรือลง
แต่ผู้บริหารจดทะเบียนจำนวนมาก กลับเล่นหุ้นตัวเอง ทั้งในทางเปิดเผย และทางลับ โดยตั้งบัญชี “นอมินี” ขึ้นมา หรือบางรายตั้งตัวเป็น “เจ้า” เสียเอง ดูแลความเคลื่อนไหวราคาหุ้น และเป็นที่มาของคำว่า “เจ้ามือ”
ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่ยึดหลักธรรมาภิบาลเข้มข้นจะหลีกเลี่ยงการซื้อขายหุ้นตัวเอง เพราะห่วงเรื่องภาพลักษณ์ นอกจากนั้น ยังถูกมองว่าผู้บริหารบริษัทฝักใฝ่เล่นหุ้น ซึ่งจะทำให้ความใส่ใจในการบริหารงานลดลง รวมทั้งยังอาจเข้าข่ายพฤติกรรมเอารัดเอาเปรียบนักลงทุนรายย่อยทั่วไปด้วย
แต่ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่ไม่ตระหนักถึงหลักธรรมาภิบาล ไม่กังวลต่อการเสียภาพลักษณ์ มักสาละวนหากิน หาเศษหาเลยจากการซื้อขายหุ้นตัวเอง
แม้การซื้อขายหุ้นตัวเองในบางโอกาสจะเฉียดข้อหาการใช้อินไซเดอร์เทรดดิ้ง หรือการนำข้อมูลบภายในมาใช้แสวงหาประโยชน์จากการซื้อขายหุ้นก็ตาม
ช่วงนี้มีข่าวผู้บริหารจดทะเบียนหลายแห่งเข้ามาซื้อหุ้นตัวเอง และเข้ามาดักซื้อก่อนที่บริษัทจะประกาศข่าวดีที่มีผลต่อราคาหุ้นเสียด้วย
ไม่จำเป็นต้องเอ่ยชื่อผู้บริหารที่ยัง “อด” หาเศษหาเลยกับการซื้อขายหุ้นตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเอ่ยชื่อตัวหุ้นที่ผู้บริหารมีพฤติกรรมที่ไม่น่าศรัทธา เอาเป็นว่า หุ้นบริษัทจดทะเบียนเหล่านี้เป็นหุ้นที่มีการเก็งกำไรที่ร้อนแรง และดูเหมือนจะเป็นหุ้นที่มี “เจ้ามือ” ดูแลแล้วกัน
การซื้อขายหุ้นตัวเองอาจอนุโลมกันได้กรณีที่หุ้นเกิดผันผวนอย่างหนัก ราคาทรุดตัวลงเกินกว่าปัจจัยพื้นฐานมากๆ ผู้บริหารอาจช้อนซื้อเก็บได้ หรือผู้บริหารมีความจำเป็นต้องใช้เงิน อาจขายหุ้นบางส่วนออกมา
แต่ไม่ใช่การซื้อๆ ขายๆ ไม่ใช่เรื่องที่ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนจะทำตัวเป็นนักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรหุ้นตัวเองอย่างถี่ยิบ ทั้งที่อยู่ในฐานะที่เหนือกว่านักลงทุนทั่วไป และมีความได้เปรียบกว่าด้านข้อมูลวงใน
ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งซึ่งตกเป็นข่าวเข้ามาเก็บเล็กเก็บน้อยกับการซื้อขายหุ้นตัวเอง ก่อนที่บริษัทจะมีการประกาศข่าวในเชิงบวกที่มีผลกระตุ้นราคาหุ้น ตลาดหลักทรัพย์ไม่ควรปล่อยผ่านในพฤติกรรม
อย่าถือว่า การซื้อขายหุ้นของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะการเข้ามาซื้อหุ้นดักข่าวดีที่บริษัทบริษัทจะประกาศตามมา แต่จะต้องเข้าไปตรวจสอบข้อมูลการซื้อขายว่า เข้าข่าวอินไซเดอร์เทรดดิ้งหรือไม่
และอย่าได้เกรงอกเกรงใจผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่ “มักได้” แม้แต่เศษเงินจากส่วนต่างราคาหุ้นเพียงเล็กน้อย โดยไม่ละอายในพฤติกรรมตัวเอง
การดำเนินคดีผู้บริหารจดทะเบียนที่ใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้นตัวเองดำเนินมาตลอด ไม่เฉพาะการซื้อหุ้นดักข่าวดีเท่านั้น แต่การขายหุ้นออก ก่อนที่บริษัทจะมีข่าวร้ายก็เคยมีคดีเกิดขึ้นเหมือนกัน
คนในตระกูล “หวั่งหลี” เคยถูกปรับมาแล้วเพราะขายหุ้นธนาคารนครธนออกมาก่อนที่ธนาคารจะเกิดวิกฤตในปี 2540 จนต้องถูกสั่งปิด
การตรวจสอบพฤติกรรมอินไซด์ฯ ของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่เข้ามาซื้อหุ้นตัวเองก่อนจะประกาศข่าวดีตามมา เป็นหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ที่จะจัดการ
ถ้าผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์เข้มแข็ง การตรวจสอบความผิดอินไซด์จะเป็นไปอย่างเข้มข้นจนผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนไม่กล้าเสี่ยงที่จะเข้ามาหาเศษเงินจากการเอารัดเอาเปรียบนักลงทุนทั่วไป
ส่วนหน้าที่ของนักลงทุนคือ ติดตามตรวจสอบดูว่า ผู้บริหารจดทะเบียนแห่งใดเข้ามาเล่นหุ้นตัวเองบ้าง และหุ้นตัวไหนที่ฝ่ายบริหารลงมาเล่นแข่งกับนักลงทุนรายย่อย จงหลีกเลี่ยงเสีย
เพราะผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่เล่นหุ้นตัวเองเป็นสิ่งบ่งชี้ว่า ฝ่ายบริหารบริษัทจดทะเบียนแห่งนั้นหย่อนยานหลักธรรมาภิบาล รวมทั้งยังผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนแห่งนั้นยังกินเล็กกินน้อย กินแม้กระทั่งผู้ถือหุ้นรายย่อยของบริษัทเอง
และหุ้นที่มี“ เจ้ามือ” ลงมาเล่นด้วยนักลงทุนจะสู้ได้หรือ
หลีกเลี่ยงลงทุนบริษัทที่มีผู้บริหารเข้ามาซื้อๆ ขายๆ หุ้นปลอดภัยดีกว่าไหม ตั้งคำถามไว้เพียงเท่านี้แหละ
สุนันท์ ศรีจันทรา