xs
xsm
sm
md
lg

“หุ้นวงจรอุบาทว์” ... ชุมชนคนหุ้น By สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มีนักลงทุนส่งรูปแบบการผ่องถ่ายเงินของบริษัทจดทะเบียน และพฤติกรรมที่เข้าข่ายการปั่นหุ้นมาให้พิจารณา เพื่อเผยแพร่ให้นักลงทุนทั่วไปจะได้เพิ่มความระมัดระวังบริษัทจดทะเบียนที่มีการกระทำอันไม่น่าไว้วางใจ

รูปแบบการไซ่ฟ่อน และวิธีการปั่นหุ้นที่ส่งมา เกิดจากการติดตามความเคลื่อนไหวของขบวนการปั่นหุ้น และนำข้อมูลมารวบรวมไว้ตามแผนภูมิที่จัดทำ วงจรอุบาทว์ของการปั่น และผ่องถ่ายจะเริ่มต้นจากการประกาศเพิ่มทุนจำนวนมาก จัดสรรหุ้นเสนอขายนักลงทุนเฉพาะเจาะจง (พีพี) โดยเสนอขายในราคาต่ำๆ เมื่อขายหุ้นพีพีไปแล้ว จะมีผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มใหม่เข้ามา ก่อนประกาศขายฝันโครงการลงทุนต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้นักลงทุนแห่เข้ามาเก็งกำไรหุ้น และจะฉวยจังหวะเพิ่มทุนอีก นำหุ้นเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมเพื่อระดมเงินขยายการลงทุน

แต่ผู้ถือหุ้นที่ควักกระเป๋าซื้อหุ้นเพิ่มทุนส่วนใหญ่จะเป็นรายย่อย โดยผู้ถือหุ้นใหญ่มักสละสิทธิ เมื่อผู้ถือหุ่นรายย่อยชำระเงินเพิ่มทุนแล้ว หุ้นบนกระดานจะถูกทิ้งขว้าง ผลดำเนินงานบริษัทจดทะเบียนแห่งนั้นจะย่ำแย่ ไม่มีการสร้าง หรือปล่อยข่าวลือเพื่อล่อแมลงเม่าให้แห่เข้ามาเก็งกำไร เหมือนจงใจให้หุ้นทรุดหนัก และจะเพิ่มทุนอีกระลอก แต่นำหุ้นขายนักลงทุนเฉพาะเจาะจง โดยกำหนดราคาต่ำมาก

ต่ำกว่าหุ้นเพิ่มทุนที่ขายผู้ถือหุ้นเดิมเสียอีก นักลงทุนรายย่อยจึงย่อยยับต่อหุ้นประเภทนี้ สำหรับโครงการลงทุนที่ผู้บริหารบริษัทฯ ขายฝันไว้ ส่วนใหญ่มักไม่ประสบความสำเร็จตามที่คุยโว โดยยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าบ้าง ขาดทุนบ้าง และต้องล้มเลิกแผนการลงทุนบ้าง แล้วแต่จะหาข้ออ้างมาแก้ตัว บางครั้งประกาศเข้าไปซื้อทรัพย์สิน หรือซื้อบริษัทอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องต่อธุรกิจหลักของบริษัทฯ ก่อนจะขายทรัพย์สินทิ้งในลักษณะขาดทุนภายหลัง หรืออาจซื้อที่ดินจำนวนมากในราคาที่แพงเกินจริง และใช้เป็นข้ออ้างในการเพิ่มทุน รวมทั้งการวางเงินมัดจำการซื้อที่ดินจำนวนมาก โดยมีเงื่อนไขในการยึดเงินมัดจำ และในที่สุดก็ถูกยึดเงินมัดจำ

เมื่อบริษัทเกิดความเสียหายจากโครงการลงทุนมากเข้า จะมีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริษัท โดยคณะกรรมการชุดเก่าถูกโละทิ้ง ตั้งชุดใหม่ขึ้นมาแทน ส่วนความเสียหายของบริษัทฯ ที่เกิดขึ้นจะโยนให้คณะกรรมการชุดเก่าเป็นคนรับผิดชอบ บริษัทจดทะเบียนที่มี “อีแร้ง” ผลัดเปลี่ยนเข้าไปรุมทึ้ง หมุนเวียนเข้าไปผ่องถ่ายไซ่ฟ่อนเงิน และปั่นหุ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ มักจะเปลี่ยนชื่อบริษัทตลอดเวลาเพื่อกลบเกลื่อนพฤติกรรมเก่า โดยบางบริษัทเปลี่ยนชื่อมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง และบางบริษัทผ่านการปรับปรุงฐานะการเงินมาแล้วถึง 3 รอบ หุ้นถูกพักการซื้อขายยาวช่วงรอฟื้นฟูกิจการมาแล้วถึง 3 หน

นักลงทุนหลายคนอาจถึง “บางอ้อ” นึกออกแล้วว่า บริษัทจดทะเบียนแห่งใดบ้างที่มีพฤติกรรมผ่องถ่าย โกงผู้ถือหุ้นรายย่อย และหุ้นตัวไหนบ้างที่อยู่ในข่าย “ปั่น” แต่ใครที่ยังนึกไม่ได้ ดูไม่ออกว่า บริษัทจดทะเบียนแห่งใดอันตราย หุ้นตัวไหนที่ต้องหลีกเลี่ยง ลองสังเกตดูแล้วกัน บริษัทจดทะเบียนใดที่ผู้บริหารจะขี้โม้ ขายฝันเก่ง ขยันสร้างข่าวดี มีข่าวปล่อยบ่อยๆ แถมยังเพิ่มทุนพีพีถี่ยิบ ช่วงไม่กี่ปีเพิ่มทุนพีพีนับสิบครั้ง สรุปในเบื้องต้นได้เลยว่า บริษัทจดทะเบียนแห่งนั้นมีแก๊งไซ่ฟ่อน และแก๊งปั่นหุ้นสิงสถิตย์อยู่

อีกจุดที่ดูได้ง่ายๆ คือ บริษัทจดทะเบียนใด มีแต่ผู้ถือหุ้นรายย่อยเต็มไปหมด โดยถือหุ้นรวมกันเกิน 80% ขึ้นไป สันนิษฐานไว้ก่อนว่า หุ้นตัวนั้นเป็นหุ้นสุดอันตราย เพราะบรรดา “ขาใหญ่” ใจโหดจะตั้งตัวเป็นเจ้ามือ ใครหลวมตัวเข้าไปเล่นหุ้นอุบาทว์เหล่านี้หมดตัวลูกเดียว ก่อนลุยหุ้นตัวไหนจึงต้องเลือกเฟ้นกันให้ดี เพราะถ้าพลาดแล้วอาจต้องแขวนหุ้นเน่าๆ ไว้ตลอดชาติ

ชุมชนคนหุ้น...สุนันท์ ศรีจันทรา
กำลังโหลดความคิดเห็น