xs
xsm
sm
md
lg

“เค.ซี.” จะรอดยังไง ชุมชนคนหุ้น ... สุนันทรา ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้ถือหุ้นบริษัท เค.ซี.พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) อยู่ระหว่างลุ้นระทึกว่า ถ้าหุ้นตัวนี้เปิดการซื้อขายใหม่จะถูกถล่มขายจมดินหรือไม่ นักลงทุนจะหนีตายกันอย่างไร เพราะข่าวร้ายๆ รอกระหน่ำ โดยเฉพาะการที่ฝ่ายบริหารบริษัทงุบงิบกันออกตั๋วแลกเงินระยะสั้น (ตั๋วบี/อี) และปล่อยให้ผิดนัดชำระหนี้จำนวนหลายร้อยล้านบาท

ตลาดหลักทรัพย์ขีดเส้นตายแล้ว ภายในวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้ บริษัท เค.ซี.พร็อพเพอร์ตี้ ต้องส่งงบการเงินปี 2558 และงบการเงินไตรมาส 3 ปี 2559 ฉบับแก้ไขที่ถูกต้อง ต้องชี้แจงการออกตั๋วบี/อี การรับและจ่ายเงินที่เกี่ยวข้อง และธุรกรรมการซื้อขายที่ดินที่ผู้ตรวจสอบบัญชีมีข้อสงสัยว่าเป็นไปตามปกติของธุรกิจหรือไม่ หุ้น เค.ซี. ถูกขึ้นเครื่องหมายเอสพี พักการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา หลังจากตั๋วบี/อี วงเงิน 130 ล้านบาท ที่บริษัทนำออกเสนอขายเกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้ และยังมีตั๋วบี/อี อีก 4 ชุด วงเงินรวม 220 ล้านบาท ทยอยครบกำหนดตามมา และน่าจะผิดนัดชำระหนี้เหมือนกัน

บริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดพฤติกรรมการบริหารงานฉาวโฉ่เป็นครั้งแรก เพราะก่อนที่จะมีวาระซ่อนเร้นการออกตั๋วบี/อี โดยไม่ลงบันทึกบัญชีในงบการเงิน เคยมีธุรกรรมการซื้อขายที่ดิน 3 รายการ ซึ่งผู้ตรวจสอบบัญชีตั้งข้อสงสัยจนไม่ยอมเซ็นรับรองงบการเงิน ส่วนตัวหุ้นมีพฤติกรรมการซื้อขายที่ร้อนแรง โดยเฉพาะภายหลังการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่เมื่อต้นปี 2558 ราคาหุ้นถูกกระชากขึ้นอย่างน่าเสียวไส้ กลายเป็นหุ้นอันตรายที่ไม่ควรแตะ

ราคาหุ้น เค.ซี.เคยสร้างสถิติเป็นหุ้นอภินิหารมาแล้ว โดยเป็นหุ้นตัวเดียวในประวัติศาสตร์ที่พุ่งชนเพดาน 30% ติดต่อกัน 4 วัน จากราคา 1.84 บาท ขึ้นมายืนที่ 5.20 บาท และเป็นหุ้นที่ถูกตลาดหลักทรัพย์เกาะติดความเคลื่อนไหว สั่งให้ชี้เแจงข้อมูลที่มีผลต่อราคาหุ้นถึง 4 ครั้ง ระหว่างกลางปี 57 ถึงต้นปี 58 และเป็นหุ้นที่ถูกใช้มาตรการแคช บาลานซ์ โดยต้องซื้อขายหุ้นด้วยเงินสดถึง 4 ครั้งในช่วงเวลาเดียวกัน

สัญญาณอันตรายของหุ้น เค.ซี. ถูกสะท้อนออกมาเป็นระยะจากธุรกรรมการซื้อขายทรัพย์สิน ราคาหุ้นที่เคลื่อนไหวอย่างไม่ปกติ รวมทั้งมีการปล่อยข่าวลือ สร้างข่าวดีกระตุ้นราคาหุ้นตลอดเวลา แต่ไม่มีใครระมัดระวังสัญญาณเตือนภัยจากบรษัทจดทะเบียนแห่งนี้ จะโทษนักลงทุนรายย่อยที่แห่เข้าไปเล่นหุ้น เค.ซี. จนอาจเสียหายยับเยินเสียทีเดียวคงไม่ได้ เพราะบร้ษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน โซลาริส จำกัด ซึงถือเป็นนักบริหารจัดการลงทุนมืออาชีพยังพลาดเข้าไปซื้อตั๋วแลกเงินระยะสั้น (ตั๋วบี/อี) และเจ็บตัวด้วยเหมือนกัน

ขณะนี้มีบริษัทจดทะเบียนประมาณ 4-5 แห่ง กำลังเกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงินระยะสั้น สร้างวิกฤตตั๋ว บี/อี เน่า แต่สำหรับบริษัท เค.ซี.พร็อพเพอร์ตี้ เป็นกรณีที่แตกต่างจากบริษัทจดทะเบียนอื่น เพราะตั๋วบี/อี ของ เค.ซี. มีวาระซ่อนเร้น ผู้บริหารบริษัทก่อนิติกรรมอำพราง ก่อหนี้โดยไม่บอกผู้ถือหุ้น และไม่รู้ว่าเงินที่กู้เข้ามาถูกนำไปไหน ถ้าตลาดหลักทรัพย์ไม่ชักป้าย “เอสพี” พักการซื้อขายไว้ชั่วคราว ป่านนี้หุ้น เค.ซี.คงเละไปแล้ว เพราะนักลงทุนไม่เหลือความเชื่อมั่นใดๆ ผู้ถือหุ้นรายย่อยคงตื่นตระหนกเทขายหุ้นทิ้ง เพราะไม่มั่นใจว่าบริษัทจะรอดหรือไม่ ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าฐานะการเงินที่แท้จริงของ เค.ซี.พร็อพเพอร์ตี้ เป็นอย่างไร จะหาเงินจากไหนมาไถ่ถอนตั๋วบี/อี

จะต้องตัดขายทรัพย์สินอะไรเพื่อใช้หนี้บ้าง เพราะชั่วโมงนี้ใครจะเชื่อ“ขี้หน้า”ผู้บริหารบริษัท ใครจะกล้าปล่อยกู้ และเมื่อผู้บริหารล้มละลายในความน่าเชื่อถือ มีพฤติกรรมซ่อนเร้นอำพรางข้อมูลงบการเงินแล้วยังจะนั่งบริหารงานอยู่ต่อไปหรืออย่างไร

ผู้ถือหุ้นรายย่อยบริษัท เค.ซี. ต้องตกอยู่ในฐานะเจ้าทุกข์ และได้รับความเสียหายจากการกระทำของผู้บริหารบริษัทฯ ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีหน่วยงานใดถามหาความรับผิดชอบจากผู้บริหาร หรือมีช่องทางใดในแง่กฎหมายที่จะเอาผิดผู้บริหารบ้างหรือไม่

วิกฤตตั๋วบี/อี เน่าครั้งนี้ แม้จะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบการเงินในวงกว้าง ไม่กระเทือนตลาดตราสารหนี้เท่าใด แต่สร้างความเสียหายรุนแรงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้น เพราะตั๋วบี/อี ที่เน่าจะทำให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นที่ออกตั๋วเน่าตามไปด้วย ส่วนผู้ที่รับเคราะห์คือ นักลงทุนที่ถือหุ้นเน่าๆ ไว้ ซึ่งไม่รู้ว่าจะต้องหมดเนื้อหมดตัวกันเท่าไหร่ และหุ้นเน่าๆ ยังแฝงตัวอยู่ในตลาดหลักทรัพย์พย์อีกเท่าไหร่ ใครล่ะจะตอบได้

ชุมชนคนหุ้น...สุนันท์ ศรีจันทรา
กำลังโหลดความคิดเห็น