กนง.ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 60 เหลือโต 3.2% จากเดิมคาด 3.3% ส่งออกขยายตัว 0.0% ดีขึ้นจากที่เคยติดลบ แต่มีความกังวล ศก.โลกยังไม่ฟื้นตัวจริง เผยมีการนำประเด็นการลงประชามติอังกฤษมาพิจารณา โดยหารือใน 2 แนวทาง เพราะมีผลกระทบต่อโครงสร้างการค้าโลก ธปท.ยันมีเครื่องมือดูแลความผันผวนเพียงพอ พร้อมยกกรณีของวิกฤตเลห์แมน บราเธอร์ส์ ที่ล้มละลาย เป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างกระทันหัน
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2559 เติบโตร้อยละ 3.1 แม้ว่าการส่งออกปีนี้จะหดตัวมากขึ้นติดลบร้อยละ 2.5 จากเดิมที่ติดลบร้อยละ 2 เนื่องจากเศรษฐกิจคู่ค้า และเศรษฐกิจโลกมีปัญหา แต่เนื่องจากการบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้น และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น 34 ล้านคน จึงมาช่วยชดเชยได้
นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นขยายตัวร้อยละ 3.1 จากเดิมคาดร้อยละ 2.4 แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ซึ่ง ธปท.มองว่า การลงทุนของภาคเอกชนน่าจะขยายตัวได้มากกว่านี้ จากผลของมาตรการการลงทุนภาครัฐที่เบิกจ่ายได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนเศรษฐกิจไทยปีหน้า ขยายตัวลดลงจากร้อยละ 3.3 เหลือร้อยละ 3.2 เนื่องจากปัจจัยลบจากภาคการส่งออก ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ทำให้ ธปท.คาดว่า มูลค่าการส่งออกปีหน้าทรงตัว หรือไม่ขยายตัวเลยจากเดิมที่คาดร้อยละ 0.1
ทั้งนี้ กนง.ยังประเมินอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในช่วงครึ่งปีหลัง จากราคาน้ำมันที่เริ่มขยับเพิ่มสูงขึ้น คาดว่าจะอยู่ 43.1 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และ 53 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในปี 2560 ดังนั้น กนง.จึงมีมติเอกฉันท์ โดยขาดคณะกรรมการ 1 คนให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมร้อยละ 1.50 เนื่องจากเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ระดับที่เพียงพอแล้วต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงยังไม่จำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขณะที่สภาพคล่องอยู่ในภาวะปกติสะท้อนจากสินเชื่อของภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจที่เริ่มขยายตัวมากขึ้น
นอกจากนี้ กนง.ยังได้นำกรณีที่อังกฤษจะลงประชามติวันที่ 23 มิถุนายน 2559 มาพิจารณา โดยหารือ 2 แนวทาง ทั้งการที่อังกฤษจะอยู่หรือออกจากสหภาพยุโรป (อียู) โดยเห็นว่าหากอังกฤษออกจากอียูจะมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกกิจโดยรวมระยะกลางถึงยาว เพราะต้องมีการปรับตัวของโครงสร้างการค้าโลก
ส่วนผลกระทบระยะสั้น มองว่าจะเกิดความผันผวนในตลาดการเงิน และอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่ง ธปท.ได้สำรวจผู้เล่นในตลาด พบว่า มีการเตรียมความพร้อมในการรับความเสี่ยงจากความผันผวนที่เกิดขึ้น ซึ่ง ธปท.ยืนยันว่า มีเครื่องมือในการดูแลความผันผวนอย่างเพียงพอ และกรณีอังกฤษมีผลกระทบจะน้อยกว่า และแตกต่างจากกรณีของวิกฤตบริษัทเลห์แมน บราเธอร์ส์ ที่ล้มละลายที่เหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างกระทันหัน แต่กรณีของอังกฤษมีตารางเวลาชัดเจน