บล.คันทรี่ฯ ปฏิเสธข่าวขายทิ้งกิจการ แต่ยอมรับว่ามีผู้ที่สนใจเข้ามาติดต่อบ้าง แต่ก็ไม่ได้มีข้อตกลงใดๆ และยังดูแลลูกค้า พร้อมทำธุรกิจเหมือนเดิม ส่วนการลาออกของซีอีโอ “ชนะชัย” พร้อมทีมงานบางส่วนยันไม่มีผลกระทบมากนัก และยังไม่คิดที่จะหาทีมงานใหม่เข้ามาแทน ลั่นรักษาเป้ามาเกตแชร์ 2%
นางสุดธิดา จิระพัฒน์สกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.คันทรี่ กรุ๊ป (CGS) เปิดเผยว่า บริษัทไม่ได้อยู่ในระหว่างการเจรจาขายกิจการ หรือพอร์ตลูกค้ารายย่อยตามที่มีกระแสข่าวลือ แม้ยอมรับว่า จะมีผู้ที่สนใจเข้ามาติดต่อบ้างแต่ก็ไม่ได้มีข้อตกลงใดๆ เกิดขึ้น โดยขณะนี้บริษัทยังคงดำเนินธุรกิจตามปกติ หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูง เน้นประคองส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) ธุรกิจหลักทรัพย์ที่กว่า 2%
“สำหรับข่าวลือทั้งหลาย (เรื่องขายกิจการ รวมไปถึงขายพอร์ตของรายย่อย) ก็ลือกันไป แต่ก็มีคนมาจีบเหมือนกัน แต่ทางบริษัทฯ ยังไม่ได้ตกลงอะไรกับใครทั้งนั้น ถ้ามีการตกลงก็จะประกาศให้ทราบโดยทั่วถึงกันอยู่แล้ว ตอนนี้ยังดูแลลูกค้า ทำธุรกิจเหมือนเดิม ทีมมาร์เกตติ้งของบริษัทก็ยังมีเยอะ เพราะมีสาขาเยอะตั้ง 40 กว่าสาขา มีลูกค้าเป็นหมื่นราย อีกทั้งลูกค้าก็ให้ความเชื่อถือบริษัท เพราะเป็นโบรกเกอร์ที่อยู่มานานมากแล้ว”
อย่างไรก็ตาม ในอดีตบริษัทเคยตั้งเป้าหมายมาร์เกตแชร์ขึ้นเป็นอันดับ TOP 5 แต่ปัจจุบันขอแค่อยู่บน Bottom line ก็พอใจแล้ว เพราะทำให้ได้ผลกำไรมากกว่าที่บริษัทฯ คาด โดยปัจจุบัน มาร์เกตแชร์ธุรกิจหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ก็มีอยู่ประมาณกว่า 2% ซึ่งการที่ นายชนะชัย จุลจิราภรณ์ ลาออกไปจากประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ CGS พร้อมทีมงานบางส่วนไม่ได้มีผลกระทบต่อการทำงานของบริษัทมากนัก และบริษัทก็ยังไม่คิดที่จะหาทีมงานใหม่เข้ามาแทนที่
“แม้ทีมคุณชนะชัย ออกไปก็ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อ Bottom line แต่อย่างใด บริษัทฯ ยังคงทำผลกำไรได้ดีเหมือนเดิม ผลการดำเนินงานของบริษัทงวดไตรมาส 1/59 ไม่ได้ขี้เหร่ และบริษัทยังมีนโยบายที่จะพยายามหารายได้ให้มากขึ้น และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายลง” นางสุดธิดา กล่าว
สำหรับธุรกิจหลักทรัพย์ในปัจจุบันนี้มีการแข่งขันกันมาก ทำให้บริษัทต้องพยายามทำทุกอย่าง ทั้งการหาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมานำเสนอ รวมไปถึงการดูแลลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะแม้ว่าจะเป็นยุคของอินเทอร์เน็ต แต่คนไทยก็ยังติดนิสัยพูดคุย และยังต้องการคนมาดูแล ดังนั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่มาร์เกตติ้งก็ยังเป็นที่ต้องการของลูกค้า แต่ก็ยอมรับว่าคนรุ่นใหม่มักจะชอบเทรดหุ้นเองผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งก็เป็นไปตามยุคสมัย
ด้านธุรกิจวาณิชธนกิจ (IB) ยังสามารถสร้างรายได้ให้แก่บริษัทพอสมควร โดยขณะนี้บริษัทมีงานที่ปรึกษาทางการเงินให้แก่ลูกค้าที่ต้องการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อยู่หลายรายที่อยู่ระหว่างการทำดีล จึงยังไม่สามารถจะบอกรายละเอียดได้