xs
xsm
sm
md
lg

ชุมชนคนหุ้น ... “ดึงฝรั่งลุยหุ้น” เอ็มเอไอ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ใครที่ได้ฟัง นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดเอ็มเอไอ ประกาศแผนดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนหุ้นในตลาดเอ็มเอไอ คงตั้งคำถามเหมือนว่า นายประพันธ์ จะมีอะไรไปจูงใจต่างชาติ

ตลาดเอ็มเอไอโตเร็วมาก แต่ยังมีลักษณะโตอย่างกลวงๆ อยู่ โดยหุ้นที่เข้าจดทะเบียนทั้งหมดประมาณ 133 บริษัท มีทั้งดี และร้าย มีทั้งหุ้นที่มีผลดำเนินงานเติบโตสูง และมีทั้งหุ้นที่ขาดทุนต่อเนื่อง

แต่ภาพโดยรวมของหุ้นเอ็มเอไอคือ หุ้นที่มีการเก็งกำไรร้อนแรง หุ้นส่วนใหญ่มีเจ้ามือ มีการปั่น และปัจจัยพื้นฐานโดยรวมมีความเปราะบาง

ค่าพี/อีเฉลี่ยของตลาดเอ็มเอไอประมาณ 59 เท่า ขณะที่พี/อี เฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ประมาณ 20 เท่า อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลเฉลี่ยประมาณ 1.62% ส่วนอัตราคาผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ประมาณ 3.41% และราคาหุ้นเมื่อเทียบกับมูลค่าหุ้นตามบัญชีเฉลี่ยอยู่ที่ 3.26 เท่า ส่วนราคาหุ้นเมี่อเทียบกับมูลค่าตามบัญชีของตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ 1.83 เท่า

เทียบปัจจัยพื้นฐานกันคร่าวๆ หุ้นในตลาดเอ็มเอเอมีราคาที่สูงมากเมื่อเทียบกับหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งหากแนวโน้มผลประกอบการหุ้นเอ็มเอไอเติบโตสูงตามที่ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนคุยไว้คงไม่เป็นไร เพราะถือว่า ซื้ออนาคตกันได้

แต่ปัญหาคือ แนวโน้มการเติบโตของหุ้นเอ็มเอไอมักจะเป็นราคาคุยเสียส่วนใหญ่

ล่าสุด ตลาดเอ็มเอไอเริ่มมีสัญญาณที่น่ากังวล เพราะมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในปีนี้ลดฮวบลงเหลือประมาณ 1,400 ล้านบาท จากเฉลี่ย 2 ปีย้อนหลังอยู่ที่วันละกว่า 3,200 ล้านบาท

เป็นไปได้ไหมที่มูลค่าการซื้อขายหุ้นตลาดเอ็มเอไอที่ลดหายไปกว่าครึ่งเกิดจากมีหุ้นใหม่เข้ามาจดทะเบียนเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ขณะที่นักลงทุนหน้าใหม่ๆ เข้ามาน้อย

สัดส่วนปริมาณหุ้นเอ็มเอไอจึงไม่เหมาะสมต่อสัดส่วนปริมาณนักลงทุน สรุปง่ายๆ คือ ซัปพลายมากเกินไป มีหุ้นมาสูบเงินในตลาดเอ็มเอไอมากเกินไป จนนักลงทุนใส่เงินลงไปไม่ทัน

และหุ้นเอ็มเอไอโดยส่วนใหญ่ก็สร้างผลตอบแทนที่ไม่คุ้มต่อการลงทุนระยะยาว ส่วนการเก็งกำไรระยะสั้น ผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาหุ้น มักจะตกแก่นักลงทุน “ขาใหญ่”

ส่วนนักลงทุนรายย่อยที่แห่เก็งกำไรหุ้นเอ็มเอไอ มีฐานะเป็นเพียงเหยื่อที่นำเงินไปสมทบทุนให้ “ขาใหญ่” เท่านั้น

ถ้าย้อนดูการเข้ามาจดทะเบียนของหุ้นเอ็มเอไอในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ยิ่งต้องตั้งคำถามว่า ผู้บริหารตลาดเอ็มเอไอควรจะภาคภูมิใจต่อการเติบโตในเชิงปริมาณหรือ ในเมื่อหุ้นใหม่สร้างความเสียหายให้นักลงทุนจำนวนไม่น้อย

หุ้นใหม่เอ็มเอไอเข้ามาซื้อขายวันแรก ราคามักจะกระโดดโลดเต้น ขยับขึ้นอย่างหวือหวา สูงกว่าราคาจองนับร้อยเปอร์เซ็นต์ หลายตัวขึ้นมาชนเพดาน 200% แต่หลังจากนั้น ราคามักจะเหี่ยวเฉาลงอย่างต่อเนื่อง

และหุ้นใหม่ที่เข้ามาในรอบไม่ถึง 3 ปีนับสิบตัว ปัจจุบันราคาต่ำกว่าราคาจองเสียอีก และหุ้นใหม่บางตัวก็ทำท่าจะเรียบร้อยรงเรียนจีน ถูกพักการซื้อขายเนื่องจากมีปัญหาเรื่องการจัดทำงบการเงิน โดยเฉพาะบริษัท เอไอ เอนเนอร์จี จำกัด (มหาชน) ชื่อย่อ aie ซึ่งราคาต่ำจองไปเรียบร้อย

ทำไมผู้บริหารตลาดเอ็มเอไอ ไม่นำเสนอข้อมูลร้ายของหุ้นเอ็มเอไอบ้าง ทำไมตั้งอกตั้งใจเสนอแต่ส่วนดีจงใจสร้างภาพเชิญชวนแมลงเม่าหรือไม่

พยายามทำตัวเป็นพวกขี้โม้เหมือนผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในตลาดเอ็มเอไอหรือเปล่า นักลงทุนที่ได้รับความเสียหายจากหุ้นเอ็มเอไอจะช่วยเหลือแ ละหามาตรการปกป้องกันอย่างไร

มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยของตลาดเอ็มเอไอ เป็นสัญญาณเตือนที่ต้องระวัง เพราะถ้าเกิดจากซัปพลายล้นเกิดจากนโยบายการรับหุ้นใหม่ในเชิงปริมาณ มีหุ้นใหม่เข้ามามากเกินไป โดยที่นักลงทุนหน้าใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนน้อย และนักลงทุนใหญ่ได้รับผลตอบแทนไม่คุ้ม จนต้องทยอยถอยห่างจากตลาดเอ็มไอเอ

ถึงจุดหนึ่งตลาดเอ็มไอเอจะอยู่ในสภาพตายซาก มูลค่าการซื้อขายหดหาย ผู้บริหารตลาดเอ็มเอไอ และโบรกเกอร์ได้แต่นั่งตบยุงไปวันๆ ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลังวิกฤตตลาดหุ้น กรณีราชาเงินทุนเมื่อปี 2522 และทำให้ตล่าดหุ้นเงียบเป็นป่าช้าเกือบ 8 ปีเต็ม

จะหันไปดึงฝรั่งมาเป็นลูกค้าใหม่ไม่มีใครว่า แม้จะมีข้อสงสัยผู้บริหารตลาดเอ็มเอไอจะหาอะไรไปเป็นจุดขายก็ตาม แต่ก็อยากให้ใส่ใจลูกค้าเดิม ให้ความรู้นักลงทุนรายย่อยในประเทศด้วย

เพราะเชื่อว่านักลงทุนรายย่อยที่เข้าลงทุนในตลาดเอ็มเอไอ ส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลตอบแทนที่คุ้ม มีแต่ “ขาใหญ่”เ ท่านั้นที่กอบโกยเงินจากตลาดเอ็มเอไอ

จะหาหาทางดึงเงินจากลูกค้ารายใหม่ก็ไม่เป็นไร แต่ช่วยกรุณาดูแลลูกค้ารายเก่า ดูแลนักลงทุนรายย่อยไม่ให้ถูกหุ้นเอ็มเอไอโกง

ช่วยทำให้การลงทุนในตลาดเอ็มเอไอด้รับผลตอบแทนที่คุ้มกว่านำเงินไปฝากกินดอกเบี้ย แค่นี้ก็เป็น “บุญ” ของนักลงทุนแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น