นายก ส.อาคารชุด ชี้ตลาดคอนโดฯ ไตรมาส 1 โต 8% มูลค่าขาย 8.58 หมื่นล้าน ระบุอานิสงส์มาตรการรัฐ แถมผู้ประกอบการแห่โละสต๊อกรับมาตรการ ขณะที่โครงการเปิดใหม่ติดลบ 13% คาด 8 เดือนหลังบิ๊กอสังหาฯ โหมเปิด 67 โครงการ มูลค่ากว่า 1.2 แสนล้าน
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย และกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวภายหลังได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมอาคารชุดไทย เป็นสมัยที่ 2 ว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงไตรมาส 1 ได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลต่อเนื่องมาจากช่วงปลายปี 58 ประกอบกับผู้ประกอบการต่างออกแคมเปญส่งเสริมการขายอย่างหนักเพื่อระบายสต๊อก ส่งผลให้ตลาดเติบโตอย่างเห็นได้ชัด พิจารณาได้จากยอดขายคอนโดมิเนียมในช่วงไตรมาส 1 จำนวน 8.58 หมื่นล้านบาท เติบโต 8% จากไตรมาส 1/58
ขณะที่โครงการเปิดใหม่ติดลบ 13% เทียบไตรมาส 1 ปีที่แล้ว คิดเป็นมูลค่า 41,477 ล้านบาท และติดลบจากไตรมาส 1/58 58 จำนวน 29% และติดลบจากไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา 24% ขณะที่บ้านเดี่ยว กับทาวน์เฮาส์ถือว่าค่อนข้างทรงตัวจากปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการมุ่งเน้นไปที่การระบายสต๊อกแทนการเปิดโครงการใหม่ก่อนที่มาตรการจะหมดอายุลง ผู้ประกอบการต่างจัดแคมเปญส่งเสริมการขายเพื่อเร่งระบายสต๊อกที่มีอยู่ เนื่องจากคอนโดฯ ที่ขายดีๆ ในช่วงปี 56-57 จะเริ่มสร้างเสร็จ และทยอยโอนตั้งแต่ปลายปี 58 ถึง 59
นอกจากนี้ ตลาดในต่างจังหวัดที่ชะลอตัวตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวบ้างแล้ว โดยเฉพาะใน 5 จังหวัดหลักที่ไม่ใช่จังหวัดปริมณฑล ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี นครราชสีมา สงขลา ยกเว้นที่ภูเก็ต ที่ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งนอกจากอานิสงส์ของมาตรการแล้ว ผู้ประกอบการเองมีการเคลียร์สต๊อกออกไปค่อนข้างมาก ด้วยการลดราคา รวมถึงของแจกแถมจำนวนมาก และประเมินว่า อาจจะชะลอตัวลดลงหลังจากหมดมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ครั้งนี้
แม้ว่ามาตรการจะช่วยกระตุ้นให้ตลาดคอนโดฯ ไตรมาส 1 โตได้ถึง 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา ติดลบอยู่ 14% ขณะที่ตัวเลขเมื่อไตรมาส 3 ปี 58 ยอดขายอยู่ที่ 76,122 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 4 ขายไปได้ถึง 99,443 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงแรงกระตุ้นจากมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ
หากพิจารณาเป็นรายสินค้า จะพบว่า ในไตรมาสแรกตลาดระดับบนเริ่มชะลอตัว เนื่องจากปีก่อนเปิดตัวค่อนข้างมาก ยกเว้นระดับราคา 7-10 ล้านบาท เติบโตถึง 52% มียอดขายอยู่ที่ 4,115 ล้านบาท ตลาดราคา 5-7 ล้านบาท ก็เริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ต้องยอมรับว่า คอนโดมิเนียมในตลาดระดับล่าง ธนาคารพาณิชย์ปฏิเสธสินเชื่อค่อนข้างสูง เนื่องจากผู้บริโภคมีภาระหนี้สูง
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 8 เดือนที่เหลือของปีนี้ผู้ประกอบการรายใหญ่ 10 รายแรกในตลาด เตรียมเปิดตัวโครงการคอนโดฯ ใหม่อย่างน้อย 67 โครงการ มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดวัสดุ ทำให้มีความต้องการใช้เพิ่มมากขึ้นด้วย ขณะที่ภาพรวมของตลาดคอนโดฯ ไม่ได้สดใสมากนัก ทำให้ผู้ประกอบการจะต้องปรับขนาดโครงการให้เล็กลงเพื่อให้สอดคล้องต่อกำลังซื้อที่จำกัด
คอนโดฯ ปี 59 เปิดใหม่ไม่เกิน 4 หมื่นยูนิต
นายสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด กล่าวถึงภาพรวมตลาดคอนโดมิเนียมปี 59 คาดว่า จะมีซัปพลายใหม่เปิดใกล้เคียงกับปี 58 คือ ไม่เกิน 4 หมื่นยูนิต แต่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในช่วงครึ่งปีหลัง รวมถึงผู้ประกอบการจะเปิดโครงการใหม่ตามแผนเดิมหรือไม่
ทั้งนี้ไตรมาสแรกที่ผ่านมา มีคอนโดฯ เปิดขายใหม่ 7,353 ยูนิต เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4/58 ประมาณ 24% แต่ไม่ได้สะท้อนว่ากำลังซื้อฟื้นตัว เนื่องจากในช่วงไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ผู้ประกอบรายใหญ่ได้เลื่อนเปิดตัวโครงการออกไป และหันไปเร่งระบายสต๊อกเดิม เพื่อให้ทันต่อมาตรการที่จะหมดอายุวันที่ 28 เม.ย.นี้ อย่างไรก็ดี คอนโดฯ ที่เปิดขายใหม่ 1 ใน 3 มาจากผู้ประกอบการรายใหม่ๆ รายเล็กมีมากถึง 2,697 ยูนิต จากจำนวน 14 โครงการ โดยที่ประมาณ 68% อยู่ในพื้นที่เมืองชั้นใน
ส่วนระดับราคาของคอนโดฯ ที่เปิดขายใหม่ในช่วงไตรมาส 1 อยู่ในระดับราคา 1-1.5 แสนบาท/ตร.ม. มากที่สุด 42% เนื่องจากผู้ประกอบการยังคงกังวลต่อกำลังซื้อระดับล่าง จึงเปิดขายโครงการที่มีราคาขายมากกว่าแสนบาทต่อ ตร.ม.มากขึ้นไป โดยที่กลุ่มราคาต่ำกว่า 1 แสนบาท หรือราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท มีการเปิดขายลดลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่แล้วเป็นต้นมา
สำหรับยอดโอนกรรมสิทธิ์ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากตามที่คาดหวัง โดยในช่วง 4 เดือ พ.ย.-ธ.ค.58 - ม.ค.-ก.พ.59 นับตั้งแต่มีมาตรการ ยอดโอนกรรมสิทธิ์ไม่แตกต่างจากช่วงก่อนที่จะมีมาตรการมากนัก โดยเดือน ธ.ค.มียอดโอนมากที่สุดประมาณ 6.000 ยูนิต เฉพาะในกรุงเทพฯ และในเดือน ม.ค.ยอดโอนลดลง และเพิ่มขึ้นในเดือน ก.พ.แต่ไม่มาก แต่ต้องรอดูยอดโอนเดือน มี.ค. และ เม.ย.ก่อนหมดมาตรการ ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการโอน คือ ความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารที่เป็นตัวแปรสำคัญ
นอกจากนี้ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการขยายตัวของตลาดอสังหาฯ ในปีนี้คือ ภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน ทั้งนี้ ต้องอาศัยการลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลมาช่วยผลักดันในการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งก็มีผลต่อเนื่องมาถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่จะดีขึ้น เมื่อภาวะเศรษฐกิจมีการขยายตัวดีขึ้น