แอล.พี.เอ็น. ปรับแผนธุรกิจรับมือภาวะอสังหาฯ ขาลงเลื่อนเปิด 4 โครงการใหม่ มูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท เหลือเปิดทั้งปี 6 โครงการ จากเป้าเดิม 10 โครงการ ส่งผลยอดขายทั้งปีพลาดเป้าเหลือ 17,000 ล้านบาท มั่นใจรายได้ตามเป้า 1.6 หมื่นล้าน
นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องไปถึงปี 2559 คาดว่าจะอยู่ในช่วงวงจร “ขาลง” หลังจากที่ตลาดเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากยังมีปัจจัยลบรอบด้าน ทั้งภาวะเศรษฐกิจในประเทศ หนี้ครัวเรือน ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง ปัญหาเงินทุนไหลออก วิกฤตเศรษฐกิจในหลายประเทศโดยเฉพาะยุโรปยังคงมีปัญหาอยู่ รวมถึงเศรษฐกิจจีนชะลอตัว จึงทำให้เชื่อว่าตลาดอสังหาฯ จะยังอยู่ในช่วงขาลงต่อไป
จากแนวโน้มดังกล่าว ทำให้บริษัทได้ปรับลดการลงทุนโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ออกไป 4 โครงการ มูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท โดยจะเปิดเพียง 6 โครงการ จากเดิมปีนี้ตั้งเป้าเปิดทั้งหมด 10 โครงการ มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยในช่วงที่ผ่านมา เปิดไปแล้ว จำนวน 3 โครงการ และในช่วงไตรมาส 4 จะเปิดอีก จำนวน 3 โครงการ มูลค่าประมาณ 7,000 ล้านบาท ในทำเลสุขุมวิท รัตนาธิเบศร์ เป็นต้น
นายโอภาส กล่าวยอมรับว่า การปรับลดหรือเลื่อนเปิดโครงการใหม่จากเป้าหมายเดิมที่วางเอาไว้ทำให้ยอดขายรวมปีนี้ของบริษัทไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 20,000 ล้านบาท โดยคาดว่าทั้งปียอดขายน่าจะอยู่ที่ 17,000 ล้านบาท โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา บริษัทมียอดขายแล้ว 12,000 ล้านบาท ส่วนยอดรับรู้รายได้คาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ 16,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันบริษัทรับรู้รายได้ไปแล้ว 12,000 ล้านบาท เนื่องจากมีสินค้ารอรับรู้รายได้ในปีนี้อีกจำนวนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีนี้บริษัทไม่จำเป็นต้องเร่งเปิดตัวโครงการใหม่ เพราะรายได้จากโครงการเปิดใหม่ก็จะไปรับรู้ในปีหน้า แต่บริษัทจะเน้นการขายสต๊อกคอนโดฯ สร้างเสร็จพร้อมอยู่ที่ต้นปีมีอยู่ราว 6,500 ล้านบาท ปัจจุบันสามารถขายออกไปได้กว่า 3,000 ล้านบาท โดยนำมาทำโปรโมชันขายในราคาต้นทุนเดิม และให้โปรโมชันอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เมื่อเทียบกับคอนโดฯ เปิดใหม่จะมีราคาขายที่สูงกว่ามาก ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทสามารถระบายสต๊อกได้อย่างต่อเนื่องเฉลี่ยเดือนละประมาณ 1,000 ล้านบาท
“ปีนี้เป็นโอกาสดีของผู้บริโภคที่จะซื้อที่อยู่อาศัย เพราะผู้ประกอบการเองยังไม่กล้าขึ้นราคา ธนาคารก็มีข้อเสนอดอกเบี้ยที่ดีมากๆ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีความพร้อมทางด้านการเงิน” นายโอภาส กล่าว
ส่วนภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ในช่วงไตรมาส 4 แนวโน้มการแข่งขันทางด้านการตลาดสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าลูกค้าสามารถตัดสินใจซื้อได้ทันที หากโครงการที่เลือกไว้แล้วมีกิจกรรมส่งเสริมการขายที่น่าพึงพอใจ ดังนั้น การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในแต่ละโครงการจึงถือเป็นปัจจัยสำคัญหลักแก่กลุ่มลูกค้าที่มีความพร้อมทางด้านการเงิน เพื่อนำมาพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในภาวะเศรษฐกิจชะลอ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วง และอาจทำให้ตลาดอสังหาฯ ชะงักงันในช่วงนี้ คือ ความไม่แน่นอนของมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ของภาครัฐ เพราะเมื่อมีกระแสข่าวว่าจะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือประชาชนผู้ซื้อบ้าน จะทำให้ลูกค้าที่อยู่ระหว่างตัดสินใจชะลอการซื้อออกไปเพื่อรอรับประโยชน์จากมาตรการ แม้จะไม่มากก็ตาม ดังนั้น หากรัฐบาลเตรียมที่จะมีมาตรการก็ขอให้ประกาศใช้โดยเร็ว หรือหากไม่มีก็ควรแจ้งให้ประชาชนรับทราบ อย่างไรก็ตาม หากผลของมาตรการขึ้นกับระยะเวลามาตรการด้วย หากกำหนดใช้เฉพาะช่วง 3 เดือนสุดท้าย ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปลายปีก็จะคึกคัก แต่หากเป็นมาตรการระยะยาว ผลของมาตรการก็จะทยอยเกิดขึ้น เหตุเพราะผู้บริโภคจะไม่เร่งรีบการตัดสินใจซื้อ