หากมองย้อนภาพของธุรกิจรับสร้างบ้านย้อนกลับไปประมาณ 10 ปีก่อน ภาพที่ปรากฏจะพบว่า ณ วันนี้มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะกับข้อสงสัยของผู้บริโภคที่ว่า “รับสร้างบ้าน” กับ “ผู้รับเหมารายย่อย” นั้นแตกต่างกันอย่างไร
เรื่องนี้คงต้องยกเครดิตให้กับผู้ที่ริเริ่มและผลักดันให้มีการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นสมาคมขึ้นมา กระทั่งนำไปสู่การระดมความคิดเห็นและเกิดเป็นนิยามหรือคำจำกัดความของ “บริษัทรับสร้างบ้านมืออาชีพ” ว่าจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญๆ อะไรบ้าง ที่ผู้บริโภคจะสามารถเปรียบเทียบและแยกแยะถึงความแตกต่างของทั้ง 2 กลุ่มที่กล่าวถึง
การเปลี่ยนไปอีกประการที่เห็นเด่นชัดคือ ขนาดของตลาดรับสร้างบ้านที่เติบใหญ่ขึ้น เช่นกันว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ปริมาณและมูลค่าตลาดรวมอยู่ราวๆ ปีละ 2-3 พันล้านบาท แต่ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดรวมทะลุปีละ 1 หมื่นล้านบาทไปแล้ว และยังมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวต่อเนื่องอีก โดยเฉพาะเมื่อเกิดการรวมตัวกันอีกครั้ง ของกลุ่มผู้ประกอบการรับสร้างบ้านและวัสดุก่อสร้าง โดยจัดตั้ง “สมาคมไทยรับสร้างบ้าน” ขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีความโดดเด่นและเข้าตาของหน่วยงานรัฐและนักวิชาการ ในฐานะเจ้าของไอเดียที่นำเอากลยุทธ์ทางธุรกิจหรือที่เรียกว่า “ระบบแฟรนไชส์” มาใช้กำหนด “มาตรฐานสมาชิกและมาตรฐานการให้บริการ” เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมกับดูแลผู้บริโภคมิให้ต้องเผชิญกับปัญหาผู้ประกอบการขาดความรับผิดชอบ เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับสมาคมอื่นๆ
สมาคมไทยรับสร้างบ้านนั้น จัดตั้งและก้าวสู่ปีที่ 4 แล้ว หนึ่งในภารกิจหลักๆ ที่สมาคมฯ พยายามผลักดันและดำเนินการมาโดยตลอดก็คือ “การสร้างและขยายโอกาส” ทั้งนี้ เพื่อจะขยายตลาดให้ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกกว้างขึ้น โดยเฉพาะตลาดที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ มองข้ามหรือทำไม่ได้นั่นก็คือ “ตลาดรับสร้างบ้านต่างจังหวัด” โดยในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา สมาคมฯ พบว่า สัดส่วนปริมาณและมูลค่าตลาดรวมรับสร้างบ้านในต่างจังหวัด เติบโตทุกปีและเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดอีกด้วยหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นตลาดบลูโอเชียนก็ไม่ผิด
ปัจจุบัน ภาพรวมของธุรกิจรับสร้างบ้านก็ยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีแนวโน้มว่า จะเปลี่ยนผ่านจากธุรกิจที่เคยมีแต่ผู้ประกอบการ SMEs หรือธุรกิจครอบครัวเกือบทั้งหมดแข่งขันกันอยู่ในธุรกิจนี้ ไปสู่อุตสาหกรรมบริการที่มีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ เข้ามาแข่งขันและแชร์ส่วนแบ่งตลาดได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการรายเดิมบางรายก็พยายามเร่งปรับตัว เพื่อจะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของธุรกิจตัวเอง และสามารถแข่งขันได้ในอุตสาหกรรมบริการสร้างบ้านต่อไป แน่นอนว่าการที่จะต้องเผชิญกับผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งแข็งแกร่งกว่าทั้งในด้าน เงินทุน กระบวนการผลิต ซัปพลายเชน ชื่อเสียง และแบรนด์สินค้าที่ผู้บริโภคให้การยอมรับนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย...เอาใจช่วยครับ
ทิ้งท้ายไว้เป็นข้อสังเกตว่า ผู้บริโภคอาจจะคุ้นเคยกับสรรพนามที่เรียกขานผู้ประกอบการรับสร้างบ้านว่า “บริษัทรับสร้างบ้าน” แต่เป็นไปได้ว่าแนวโน้มในอนาคต สรรพนามเรียกขานอาจจะเปลี่ยนเป็น “ศูนย์รับสร้างบ้าน” สังเกตได้จากผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่เข้ามาแข่งขันในธุรกิจรับสร้างบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในต่างจังหวัด ตลอดจนผู้ประกอบการรายเดิมหลายๆ ราย ต่างก็เริ่มเปลี่ยนมาใช้สรรพนามใหม่กันแล้ว นี่คือการเปลี่ยนไปอย่างหนึ่งที่อาจมองได้ว่า เป็นแค่นามธรรมและไม่มีนัยสำคัญใดๆ แต่ถ้าพิจารณาให้ดีๆ สิ่งนี้กำลังจะสะท้อนถึงค่านิยมและตำแหน่งทางการตลาดใหม่ และอาจเป็นสิ่งยืนยันว่า ตลาดรับสร้างบ้านเปลี่ยนไปจริงๆ
ผู้เขียนเองมองว่านี่คือ จุดเริ่มต้นของการปรับตัวของผู้ประกอบการ SMEs พร้อมรับการแข่งขันกับรายใหญ่ในอนาคต
โดย สมาคมไทยรับสร้างบ้าน