xs
xsm
sm
md
lg

แนะบริหารความเสี่ยงเหล็กขึ้นราคา แต่อย่าตุนเกินเหตุ-เชื่อไม่กระทบราคาบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สิทธิพร สุวรรณสุต
“สิทธิพร สุวรรณสุต” นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน (THBA) ระบุ ราคาเหล็กเริ่มขยับขึ้น ตามแนวโน้มตลาดโลก บวกปัจจัยเมกะโปรเจกต์ภาครัฐ อสังหาฯ เปิดโครงการใหม่ ด้าน “พิชิต อรุณพัลลภ” นายก ส.ธุรกิจรับสร้างบ้าน หวั่นสินค้าวัสดุปรับราคาขึ้นยกแผง แนะผู้ประกอบการธุรกิจรับสร้างบ้านบริหารต้นทุน หลังเหล็กก่อสร้างส่งสัญญาณปรับขึ้นราคา พร้อมยอมรับตลาดแข่งขันดัมป์ราคาแย่งลูกค้าจากผู้ประกอบการบางรายที่ไม่ได้มาตรฐาน เตือนผู้บริโภคตรวจสอบข้อมูลรอบด้าน นักวิเคราะห์ เตือน อย่าแห่ต้นทุนเกินจำเป็น ระวังซ้ำรอยเหมือนในอดีต ชี้ยังไม่มีผลกระทบต่อราคาบ้าน ด้าน บล. ดีบีเอสฯ ชี้ราคาขึ้นมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา

นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน (THBA) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีดีเฮ้าส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ราคาเหล็กแท่งในตลาดโลกได้ขยับขึ้น ซึ่งส่งผลให้ราคาในประเทศทยอยปรับขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 58 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ประกอบการนโยบายภาครัฐในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ และผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์มีการเปิดโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง ได้กลายเป็นแรงผลักดันให้การใช้ภายในประเทศสูงขึ้น อีกทั้งก่อนหน้านี้ช่วง 2-3 ปี กลุ่มผู้ค้าเหล็กในประเทศยอดขายไม่ดี ภาวะตลาดไม่เอื้ออำนวย ทำให้ไม่มีการสต๊อกสินค้า รวมถึงนโยบายการควบคุมคุณภาพเหล็กตาม มอก.

นายพิชิต อรุณพัลลภ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่า ขณะนี้ภาคธุรกิจก่อสร้าง รวมถึงผู้ปะกอบการธุรกิจรับสร้างบ้านเริ่มได้รับผลกระทบจากการส่งสัญญาณของตลาดโลกต่อสินค้าวัสดุก่อสร้างเริ่มปรับราคาสูงขึ้น ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวก็ได้ส่งสัญญาณการปรับขึ้นราคาเหล็กก่อสร้างภายในประเทศไทยด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบัน สินค้าวัสดุก่อสร้างโดยรวมจะยังไม่น่าห่วงว่าจะมีการปรับราคาขึ้นยกเว้นเหล็กสำหรับก่อสร้าง ตอนนี้ได้รับการแจ้งจากดีลเลอร์ว่า ราคาขายหน้าโรงงานเริ่มขยับขึ้น แต่ก็ไม่มาก ซึ่งหากในอนาคตราคาปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บวกกับค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอย่างน้อย 10% และขาดแคลนแรงงานฝีมือ ก็จะส่งผลต่อต้นทุนการก่อสร้างของบริษัทรับสร้างบ้านที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และเริ่มขึ้นโครงสร้าง หากไม่ได้คำนวณต้นทุนเผื่อไว้

และจากการส่งสัญญาณปรับขึ้นราคาเหล็กสำหรับก่อสร้างนั้น อาจนำร่องให้สินค้าวัสดุก่อสร้าง หรืออุปกรณ์ก่อสร้างในรายการอื่นๆ ปรับราคาขายขึ้นตาม

“ตลาดรับสร้างบ้านยังเผชิญกับแรงเหวี่ยงของเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้น ส่งผลต่อภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านในช่วงไตรมาส 1/2559 ที่ชะลอตัว ผลที่ตามมาทำให้ตลาดมีการแข่งขันกันด้วยราคา แย่งลูกค้า จากผู้ประกอบการบางรายที่ไม่ได้มาตรฐาน และสิ่งที่น่ากังวลก็คือ มีผู้ประกอบการรับสร้างบ้านบางรายนำเอาโลโก้ของสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านไปใช้ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือหวังผลทางด้านธุรกิจ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมฯ”
พิชิต  อรุณพัลลภ
นายพิชิต กล่าวเป็นห่วงว่า การที่นำราคาลงแข่งกันในขณะที่ราคาวัสดุก่อสร้างบางรายการเริ่มส่งสัญญาณปรับขึ้นราคา ทางสมาคมฯ เป็นกังวลว่า จะส่งผลต่อคุณภาพของงานที่อาจไม่ได้มาตรฐาน และที่สำคัญผู้บริโภคก็จะได้บ้านที่ไม่ได้คุณภาพ หรือหากบริษัทนั้นๆ ไม่สามารถควบคุมต้นทุนได้ อาจบอกเลิกสัญญา สร้างบ้านไม่เสร็จ ก็เกิดกรณีพิพาทฟ้องร้องกันขึ้นได้

หวั่นปั่นราคาเหล็กซ้ำรอยอดีต

แหล่งข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์ ระบุว่า สัญญาณการปรับขึ้นของราคาเหล็กในครั้งนี้อาจจะไม่รุนแรงเหมือนช่วงก่อนหน้านี้ที่มีผู้ประกอบการภาคอสังหาฯ แห่กักตุน มีการโชว์ภาพการสั่งสต๊อกเหล็กเป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อราคาเหล็กกลับดิ่งลงมาจนทำให้ได้รับผลกระทบ ซึ่งเชื่อว่า ผู้ประกอบการคงจะเฝ้าติดตามสถานการณ์ดังกล่าว และคิดว่าปัจจัยของราคาเหล็กที่ขึ้นคงจะยังไม่มีผลต่อราคาที่อยู่อาศัยมากนัก ตัวอย่างเช่น บ้านราคา 2 ล้านบาท ส่วนประกอบของต้นทุนจากเหล็กที่ใช้วิธีการก่อสร้างแบบเดิมๆ จะอยู่ที่ 7-8% แต่ไม่น่าจะเกิน 10%

สิ่งที่ต้องมองว่า แนวโน้มราคาเหล็กที่จะขึ้นจะเหมือนการปั่นราคาหรือไม่ และอยากให้มองว่า ผลของราคาเหล็กอาจจะยังไม่ไปถึงราคาที่อยู่อาศัยมากนัก เพราะต้นทุนวัสดุก่อสร้างตัวอื่น เช่น ปูนซีเมนต์ วัสดุก่อสร้างประเภทอิฐมวลเบา ปูนฉาบ เสาเข็ม ไม่ขยับขึ้น และราคาน้ำมัน ยังไม่มีสัญญาณในขาขึ้น อย่างไรก็ดี การที่ออกมาพูดเรื่องราคาเหล็ก คิดว่าคงไม่ได้ส่งสัญญาณไปถึงภาครัฐ แต่กำลังบอกให้ผู้บริโภคยอมรับ หากจะอ้างว่าราคาบ้านจะขยับขึ้น เป็นต้น”

“เมกา โฮม” ชี้โครงการรัฐ-อสังหาฯ ตัวแปรหนุนการใช้

นางสุพรศรี นาคธนสุกาญจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการและบริหารกลุ่มลูกค้า บริษัท เมกา โฮม เซ็นเตอร์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจศูนย์รวมวัสดุก่อสร้าง และของใช้ครบวงจร กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า ผลจากภาครัฐได้กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่ช่วงปลาย 2558 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะวัสดุประเภทเหล็กปรับราคาขึ้น และคาดว่าไตรมาส 2 ราคาจะปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาเหล็กเส้น และเหล็กข้ออ้อยที่จะมีการปรับราคาขึ้นราว 5% พร้อมทั้งเริ่มขาดแคลนสินค้า ทั้งนี้ บริษัทจึงได้มีการเตรียมสต๊อกเหล็กเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า

“จากแผนการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจกต์ที่มีความจำเป็นในการใช้วัสดุก่อสร้างประเภทเหล็กเพิ่มมากขึ้น ทำให้ในปัจจุบัน เหล็กขาดตลาด และยังส่งผลให้ราคาเหล็กมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา 3-5% ในส่วนภาพรวมมูลค่าตลาดวัสดุก่อสร้าง และของตกแต่งบ้านในปัจจุบัน คาดว่าจะมีมูลค่ารวมกว่า 4 แสนล้านบาท เติบโต 3-5% ขณะที่มูลค่าตลาดรวมของธุรกิจรับสร้างบ้านมีมูลค่าตลาดรวมที่ประมาณ 14,000-15,000 ล้านบาท เติบโตประมาณ 4-5%” นางสุพรศรี กล่าว

โบรกเกอร์ชี้ปัจจัยดันราคาเหล็กขึ้น

ด้านฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า ราคาเหล็กขยับขึ้นต่อเนื่องใน YTD โดยได้ Update ข้อมูลล่าสุดกับทางผู้บริหารของ บริษัท ค้าเหล็กไทย จำกัด (มหาชน) (TMT) พบว่า ราคาเหล็กได้ทยอยปรับขึ้นต่อเนื่องในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ โดยเป็นผลจาก 1) ปริมาณการผลิตเหล็กของผู้ประกอบการรายใหญ่ในประเทศลดลง เพราะมีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน 2) การนำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนจากบราซิล ตุรกี อิหร่าน ฯลฯ น้อยลง เพราะอยู่ระหว่างการไต่สวนอัตราค่าธรรมเนียมตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping duty) และยังไม่สรุปอัตราการเรียกเก็บที่ชัดเจน จึงทำให้อุปทานในระบบลดลงไปอีกส่วนหนึ่ง 3) ดีลเลอร์มีการสะสมสต็อกมากขึ้นหลังระดับสต็อกต่ำมากในช่วงปลายปี 58 และในช่วงที่ราคาขยับขึ้น และ 4) ราคาเหล็กในต่างประเทศที่ปรับขึ้นช่วยหนุนด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น