“ทาทาสตีล” ลดเป้าปริมาณการขายเหล็กปีนี้ลงเท่าปีก่อน 1.29 ล้านตันจากเดิมที่คาดว่าโต 5% หลังปริมาณการบริโภคเหล็กในประเทศช่วง 6 เดือนแรกวูบ 15% แถมยังเจอเหล็กลวดคาร์บอนต่ำจากจีนดัมป์ราคามา ทำให้ต้องปรับลดกำลังการผลิตลง 50% ในเดือนนี้ แม้ว่าจะขายราคาเท่าทุนแต่ก็แพงกว่าจีนถึงตันละ 2 พันบาท โดยได้ยื่นหนังสือร้องพาณิชย์ออกมาตรการปกป้องการทุ่มตลาดด่วน
นายราจีฟ มังกัล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทาทาสตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (TSTH) เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับลดเป้าปริมาณการขายเหล็กเส้นในงวดปี57/58 (เม.ย. 57-มี.ค. 58) ลงจากเดิมที่ตั้งไว้โต 5% เป็นเท่ากับปีที่แล้วที่ 1.29 ล้านตัน/ปี เนื่องจากตลาดการบริโภคเหล็กรวมในประเทศไทยช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ปรับลดลงถึง 15% คาดว่าทั้งปี 2557 ปริมาณความต้องการใช้เหล็กในประเทศจะไม่โตหรืออาจติดลบเมื่อเทียบจากปีก่อนเช่นเดียวกับตลาดเเหล็กทรงยาว
ซึ่งแนวโน้มผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2 ของบริษัทฯ พบว่าตลาดเหล็กทรงยาวยังคงไม่ดีทั้งในแง่ปริมาณและราคาเหล็กเส้นเพราะยังอยู่ภายใต้การกดดันจากเหล็กนำเข้าจากจีนที่มีราคาขายถูกกว่า แม้ว่ารัฐยังมีนโยบายเดินหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่ก็ไม่ได้มีผลกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้เหล็กภายในประเทศเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ คงต้องรอไปอีก 6-9 เดือนข้างหน้า
ดังนั้นบริษัทฯ จึงต้องหันมาเน้นการบริหารงานภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพเพื่อลดต้นทุน รวมทั้งการทำตลาดส่งออกไปยังอาเซียน โดยมีแผนทำตลาดภายใต้แบรนด์ “ทาทา ทิสคอน” โดยได้ทำตลาดที่ลาวกับกัมพูชา ถัดไปจะทำตลาดพม่า มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย จะทำให้ยอดการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 15-18%จากเดิม 10% ของยอดขาย
นายราจีฟกล่าวต่อไปว่า บริษัทได้ยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือไปที่กระทรวงพาณิชย์เพื่อให้ออกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสำหรับสินค้าเหล็กลวดคาร์บอนต่ำผสมอัลลอยด์ หลังถูกจีนทุ่มตลาดหนักจนทำให้ผู้ประกอบการในประเทศที่เคยผลิตเหล็กลวดคาร์บอนต่ำต้องหยุดผลิตไปแล้วผันตัวเองเป็นผู้นำเข้าแทน เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันด้านราคาเพราะเหล็กลวดคาร์บอนต่ำจากจีนได้รับการอุดหนุนด้านการส่งออก 9% และภาษีนำเข้าจากไทยจัดเก็บ 0% ทำให้เหลือเพียงบริษัท ทาทาสตีลเพียงรายเดียวที่ยังคงผลิตเหล็กลวดคาร์บอนต่ำอยู่
จากสถิติยอดการนำเข้าเหล็กลวดคาร์บอนจากจีนมาไทยเพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่ 6.20 แสนตัน เพิ่มเป็น 8.39 แสนตันในปี 2556 และไตรมาส 1 ปีนี้อยู่ที่ 1.97 แสนตัน คาดว่าทั้งปี 2557 ปริมาณการนำเข้าหล็กคาร์บอนจากจีนคงไม่ต่ำกว่า 8 แสนตัน/ปี ขณะที่ยอดขายเหล็กลวดคาร์บอนต่ำจากบริษัทฯ เคยมียอดขายเฉลี่ยเดือนละ 1.7 หมื่นตัน แต่ไตรมาส 1/2557 มียอดขายลดลงเหลือ 1.35 หมื่นตัน/เดือน และเดือน ส.ค.นี้ได้ปรับลดการผลิตลงเหลือเพียงเดือนละ 6 พันตันเท่านั้น เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับเหล็กลวดคาร์บอนต่ำจากจีนที่มีราคาถูกถึงตันละ 2 พันบาท
โดยก่อนหน้านี้รัฐได้ออกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดเหล็กลวดคาร์บอนสูงผสมอัลลอยด์จากจีนในอัตราภาษี 5% ซึ่งมีระยะเวลา 5 ปี ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ
“ปัจจุบันบริษัทฯ ขายเหล็กลวดคาร์บอนต่ำในราคาเท่าทุน แต่ก็ยังราคาสูงกว่าเหล็กลวดคาร์บอนต่ำจากจีนถึงตันละ 2 พันบาท ซึ่งลูกค้าบางรายก็ยอมซื้อสินค้าของเราแม้ว่าจะแพงกว่า” นายราจีฟกล่าว
นายราจีฟกล่าวถึงกรณีที่ สมอ.ได้อนุมัติให้ผู้ผลิตเหล็กที่ผลิตจากกระบวนการInduction (เตาไฟฟ้าแบบเหนี่ยวนำ) ผ่าน มอก. ทำให้มีการนำเหล็กดังกล่าวมาใช้เหมือนเหล็กเส้นก่อสร้างนั้น เรื่องนี้ทางผู้ประกอบการเหล็กเส้นในประเทศหลายรายได้ทำหนังสือคัดค้านไปยัง สมอ. เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการผลิตเหล็กแบบInduction ไม่สามารถกำจัดสารมลทินจากเหล็กได้ทำให้ได้เหล็กที่มีคุณภาพต่ำ ขายได้ราคาถูก ซึ่งเกรงว่าจะส่งผลเสียหากมีการนำเหล็กดังกล่าวมาใช้ในการก่อสร้างโครงการต่างๆ ได้ และเป็นเรื่องยากที่จะควบคุมดูแลให้เหล็กได้คุณภาพสม่ำเสมอ จึงอยากเรียกร้องให้ สมอ.ต้องไม่พิจารณาเปลี่ยนแปลงมาตรฐาน มอก. และยกเลิกการอนุมัติให้ผู้ประกอบการเหล็กที่ผลิตแบบ Induction มาใช้เป็นเหล็กก่อสร้างด้วย