นักวิชาการมองการฟื้นตัว ศก.ไทยไตรมาส 2/59 ยังไม่ชัดเจน แต่เชื่อว่าจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่ซีไอเอ็มบีไทยห่วงการส่งออกหากติดลบเกิน 4% มีโอกาสฉุดจีดีพีปีนี้โตต่ำกว่า 2% ส่วนค่าเงินบาทยังมีโอกาสผันผวนจากสงครามค่าเงิน แนะใช้กลไกดูแลให้เหมาะสม
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปีนี้ คาดว่าจะเติบโตได้ประมาณร้อยละ 2.7-2.8 ใกล้เคียงกับไตรมาสแรกที่เติบโตร้อยละ 2.7 โดยคาดหวังว่าจะมีปัจจัยบวกจากการลงทุนของภาครัฐ เพราะการบริโภคยังมีความเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้งที่อาจจะรุนแรงมากขึ้น แต่เชื่อว่ารัฐบาลจะมีมาตรการออกมาเพื่อประคับประคองการบริโภคไม่ให้ชะลอตัว และดูแลค่าครองชีพของประชาชนฐานราก
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีโอกาสที่จะขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 2 ได้ จากที่คาดการณ์ว่า โตร้อยละ 2.7 โดยปัจจัยเสี่ยงหลักมาจากปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกที่อาจหดตัวมากกว่าที่ร้อยละ 4 หากผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนรุนแรงกว่าที่คาด
ดังนั้น รัฐบาลต้องดูแลเสถียรภาพให้สามารถประคับประคองเศรษฐกิจไปได้ ทั้งอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ยนโบายที่จะเก็บไว้ใช้ยามจำเป็น และเห็นว่าค่าเงินบาทยังมีความผันผวนจากสงครามค่าเงิน ซึ่งสิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะดำเนินการได้ คือ การผ่อนคลายการลงทุนในต่างประเทศ
ขณะเดียวกัน ธปท.ไม่ควรเข้าไปแทรกแซงให้เงินบาทอ่อนค่าเพื่อสนับสนุนการส่งออก เพราะการแข่งขันด้านราคาเพียงอย่างเดียวไม่สามารถกระตุ้นการส่งออกได้ในภาวะการค้าโลกตกต่ำ ผู้ผลิตสินค้าส่งออกต้องปรับปรุงคุณภาพสินค้า และเพิ่มนวัตกรรมให้สินค้ามีความทันสมัยตรงตามอุปสงค์ของตลาดโลก
ด้าน นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ทั้งปัญหาภัยแล้งที่กระทบรายได้เกษตรกร การส่งออกที่ยังหดตัวต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 3 เช่น การเติมเงินกองทุนหมู่บ้านเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง
ดังนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 2 จึงยังไม่ชัดเจน คาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 1 และ 2 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.8 โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง โดยหวังผลจากการเปิดประมูลโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะทำให้เกิดการหมุนเวียน และกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้เอกชนลงทุนตาม
ส่วนกำลังซื้อผู้บริโภค คาดว่า จะฟื้นตัวช้ากว่าการลงทุนเพราะกำลังซื้อยังอ่อนแอ เกษตรกร และผู้มีรายได้น้อยยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอตัว เช่นเดียวกับการส่งออกที่คาดว่ายังหดตัวตามทิศทางราคาน้ำมัน และราคาสินค้าเกษตร รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจในภูมิภาค