xs
xsm
sm
md
lg

ศก.ไตรมาสแรกไม่สดใส ห่วงภัยแล้งยืดเยื้อ เงินทุนผันผวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินไตรมาสแรกจีดีพีโตแค่ 2.8% ฟื้นตัวช้ากว่าคาด หวังไตรมาส 2 มาตรการกระตุ้นช่วยพยุง และครึ่งปีหลังได้โครงการรัฐหนุนให้โตได้ตามเป้า 3% ระบุเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความกดดันมากขึ้น จับตาภัยแล้งยืดเยื้อ เศรษฐกิจจีน ขณะที่เงินทุนยังมีความผันผวน ทิศทางบาทยังแข็ง

นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ได้ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 และครึ่งหลังของปี 2559 หลังจบไตรมาสแรกปี 2559 โดยคาดว่า การเติบโตของเศรษฐกิจอาจจะยังชะลอตัวต่อเนื่องในไตรมาส 2 มีอัตราการขยายเท่ากันทั้งไตรมาส 1 และ 2 ที่ 2.8% และค่อยๆ เร่งตัวขึ้นในครึ่้งหลังของปี มีอัตราการเติบโตที่ 3.3%

โดยในไตรมาส 2 นั้น เศรษฐกิจโดยภาพรวมน่าจะกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย รับผลดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐรอบใหม่นี้ ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินออกมา 60,000-80,000 ล้านบาท ส่งผลบวกต่อจีพีดีเพิ่มขึ้น 0.4-0.60% ขณะที่ครึ่งปีหลังโครงการสำคัญของภาครัฐที่มีวงเงินลงทุนสูงน่าจะดำเนินการคืบหน้าได้มากขึ้น ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มเร่งขึ้นตาม

ทั้งนี้ จากปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้มีการปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจในบางตัวที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ได้แก่ การบริโภคเอกชนจากเพิ่มขึ้น 2.1% เป็น 1.9% การลงทุนเอกชนจากเพิ่มขึ้น 3.9% เป็น 2.3% การส่งออกจากเพิ่มขึ้น 2% เป็น 0% การนำเข้าจากเพิ่มขึ้น 5.5% เป็นลดลง 4.5% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจาก 1.2% เป็น 0.4% ราคาน้ำมันเฉลี่ย 45 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เป็น 37.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ 3%

“เวลานี้เศรษฐกิจไทยเผชิญความกดดันมากขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจหลักของโลกที่ฟื้นตัวช้าเช่นกัน ทำให้ภาคการส่งออกยังติดลบ รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่กำลังซื้อภายในประเทศยังถูกซ้ำเติมจากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรง ทำให้ไตรมาสแรกที่ผ่านมายังชะลอตัว และยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปว่า ปัญหาต่างๆ ที่ยังประสบอยู่จะไม่เป็นไปในทิศทางที่แย่ลง เช่น ปัญหาภัยแล้งยืดเยื้อ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่คาดว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วจะฟื้นตัวหรือไม่ รวมถึงเศรษฐกิจจีนว่าจะชะลอตัวลงกว่านี้หรือไม่”

นางพิมลวรรณ กล่าวว่า การทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ รวมถึงจีดีพีนั้นยังจะต้องดูกันต่อไป จบไตรมาส 2 แล้วก็คงจะมีการมาดูกันอีกครั้งว่า ปัจจัยเสี่ยง-ปัจจัยบวกเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งน้ำหนักในการปรับลงก็ยังมี แต่เชื่อว่าหลังไตรมาส 2 จะมีความชัดเจนในเรื่องต่างๆ ออกมาอีกสมควร ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะจะทบทวนกันอีกครั้ง

บาทยังแข็งรับเฟดชะลอขึ้น ดบ.

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดนั้น เท่าที่หลายสำนักประเมินกันก็น่าจะมีจำนวนการปรับขึ้นที่ลดลง เราคาดว่าคงจะปรับขึ้นอีกครั้งเดียวในช่วงเดือนกันยายน หรืออาจจะลากยาวไปถึงธันวาคม ซึ่งจะทำให้ค่าเงินบาทจะแข็งค่าอยู่อีกระยะหนึ่ง จากค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมทั้งปีคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ความผันผวนของเงินทุนก็จะยังมีอยู่ตามความชัดเจนในการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

ส่วนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมานั้น วัตถุประสงค์หลักเป็นการลดภาระให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ต้องแยกส่วนกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะต้องดูแลในเรื่องของเสถียรภาพของระบบเป็นหลัก ไม่จำเป็นที่ธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยแล้ว ดอกเบี้ยนโยบายต้องลดตาม เพราะเป็นการให้น้ำหนักในการดูแลที่แตกต่างกัน แต่หากภาวะใดๆ ที่ ธปท.จำเป็นที่ต้องปรับลดดอกเบี้ยก็สามารถทำได้โดยที่ธนาคารพาณิชย์อาจจะไม่ต้องลดตามก็ได้เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น