xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯ คาด Breixt ฉุดจีดีพี 0.7%-ยันแบงก์ไทยแกร่งรับมือเงินผันผวนอยู่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบ Brexit เบื้องต้น ฉุดจีดีพีไทย 0.7% แต่จะเพิ่มระดับทางลบขึ้นในปีต่อไป จับตาท่าทีสมาชิกอื่นแห่ออกตาม-เฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ย-เศรษฐกิจจีน แนวโน้มบาทยังอ่อน แต่ผันผวนหนักขึ้น เตือนทำประกันความเสี่ยง ยันแบงก์ไทยยังแกร่งรับมือความผันผวนของเงินทุนได้

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ผลกระทบจาก Brexit ต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมในปีนี้ยังคงมีจำกัด เนื่องจากยังต้องใช้เวลาในการเจรจาเงื่อนไขต่างๆ ทั้งด้านการค้า และความสัมพันธ์หลังจากออกจากกลุ่มอียูอีก 2 ปี ดังนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะสั้นๆ นี้ก็คงเป็นด้านความผันผวนในตลาดเงิน การท่องเที่ยว และการค้าที่เกี่ยวเนื่องกับ UK และ EU ซึ่งจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจมากแค่ไหน คงต้องติดตามดูความคืบหน้าในการเจรจาขั้นตอนต่อๆ ไป รวมถึงท่าทีของประเทศสมาชิกอื่นที่อาจจะใช้แนวทางเดียวกัน

นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจ้ยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ในเบื้องต้นนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินปอนด์ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจ UKI จะกระทบไทยราว 0.07% หรือประมาณ 10,000 ล้านบาท และ 0.2%ในปี 2560 โดยยังคงประมาณการจีดีพีปีนี้เติบโตที่ 3% แต่ปรับลดเป้าหมายการส่งออกจากเดิม 0% เป็น -2% การนำเข้าจาก -4.5% เป็น -6.6%

“จากกรณีของ Brexit นั้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองที่น่าเป็นห่วงต่อเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังปีนี้มากขึ้น เนื่องจากจะมีผลกระทบการส่งออกจะติดลบมากขึ้น รวมถึงการท่องเที่ยวจากเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลง ทำให้เศรษฐกิจครึ่งปีหลังคงจะเติบโตได้ไม่มากเท่าครึ่งปีแรก โดยประเมินครึ่งปีแรกที่ 3.2% ครึ่งปีหลังที่ 2.9% แต่ยังคงประมาณการจีดีพีเติบโตทั้งปีที่ 3% เนื่องจากคาดการณ์ว่า เงินลงทุนของภาครัฐที่เริ่มทยอยออกมา แต่หากเกิดความล่าช้า หรือผลของ Brexit ลุกลามจนกระทบเสถียรภาพของกลุ่มอียู ก็อาจจะมีการทบทวนอีกครั้ง”

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจที่จะต้องติดตามในระยะต่อไปนั้นมีอยู่ 3 ประเด็นหลักๆ ได้แก่ 1.รายละเอียดขั้นตอนในการออก EU ของ UK 2.การพิจารณาการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด เนื่องจากกรณี Brexit ทำให้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงมากขึ้น จึงคาดว่า เฟดน่าจะชะลอการปรับดอกเบี้ยขึ้นในปีนี้ ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังมีความเป็นไปได้ที่ปรับลง หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจมีความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และ 3.เศรษฐกิจจีนที่มีภาคการส่งออกผูกอยู่กับกลุ่ม EU ค่อนข้างมาก

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทนั้น มองว่าจะยังอยู่ในทิศทางที่อ่อนค่า โดยคาดการณ์ไว้ระดับเดิมที่ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในปลายปีนี้ แต่จะมีกรอบความผันผวนที่มากขึ้น ดังนั้น ผู้ที่มีการค้าระหว่างประเทศ จึงควรทำประกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งในส่วนของผู้นำเข้าจากตลาดญี่ปุ่นจากเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น และผู้ส่งออำไป UK และ EU จากค่าเงินที่อ่อนลง

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ในส่วนของภาคสถาบันการเงินไทยนั้น ยังมีสถานะที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน แม้จะมีอัตราการเติบโตของสินเชื่อระดับไม่สูงนักที่ 3.3% และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่ 2.6% แต่ก็มีเงินสำรองต่อสินทรัพย์เสี่ยงมากถึง 160% มีเงินกองทุนขั้นที่หนึ่ง 14.6% ซึ่งสูงกว่าประเทศในกลุ่มใกล้เคียงก้น
กำลังโหลดความคิดเห็น