xs
xsm
sm
md
lg

เผย ศก.ไทยช่วง 4 ปีที่ผ่านมาขยายตัวต่ำ จีดีพีเฉลี่ยเติบโตเพียง 2.5% ต่อปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“เอดีบี” แจงปรับลด “จีดีพี” ของไทยปีนี้เหลือโต 3% จากที่คาดไว้ 3.5% เนื่องจากยังมีความเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะภัยแล้งที่รุนแรง และยาวนานกว่าที่คาดไว้ ขณะที่การส่งออกยังหดตัว -1% ก่อนที่จะเริ่มขยายตัวได้ 1% ในปี 2560 โดยต้องจับตา ศก.โลก โดยเฉพาะคู่ค้าสำคัญอย่างจีน พร้อมแสดงความเป็นห่วงการขยายตัวของ ศก.ไทยที่เติบโตต่ำ โดยเฉพาะในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จีดีพีเฉลี่ยโตเพียง 2.5% ต่อปี

นางลักษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโส สำนักงานผู้แทนประเทศไทย ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เปิดเผยรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจเอเชีย และเศรษฐกิจไทยในปี 2559 โดยระบุว่า เอดีบีปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2559 โตร้อยละ 3 จากเดิมคาดว่าโตร้อยละ 3.5 และจีดีพีจะเร่งตัวเพิ่มเป็นร้อยละ 3.5 ในปี 2560 เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศสำคัญยังขยายตัวได้ไม่เข้มแข็ง

โดยการประเมินในครั้งนี้ยังไม่ได้รวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสงกรานต์ ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคในเดือนเมษายนได้ แต่ผลต่อจีดีพีทั้งปีเชื่อว่าจะมีน้อยมาก

สำหรับตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ คือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง 8 ปี คาดว่าในปีนี้จะมีการเริ่มดำเนินการใน 20 โครงการ มูลค่า 1.7 ล้านล้านบาท ทั้งโครงการรถไฟฟ้า รถไฟ มอเตอร์เวย์ ท่าเรือ และการขยายสนามบินสุวรรณภูมิ

ทั้งนี้ หากการลงทุนเป็นไปตามที่กำหนดจะมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ และการลงทุนภาคเอกชนให้ลงทุนตาม โดยประเมินการลงทุนภาครัฐปีนี้ขยายตัวร้อยละ 10

ขณะที่การส่งออกในปีนี้ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ติดลบร้อยละ 1 ก่อนที่จะเริ่มขยายตัวร้อยละ 1 ในปี 2560 โดยต้องจับตาเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่เชื่อมโยงต่อการส่งออกไทย ซึ่งเอดีบีทำการศึกษาว่า หากอัตราการเติบโตของจีนชะลอลงอีกร้อยละ 0.85 จากที่คาดการณ์ว่าโตร้อยละ 6.5 จะมีผลกระทบต่อจีดีพีประเทศเกิดใหม่ และไทยลดลงร้อยละ 0.3

อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวยังเป็นปัจจัยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ส่วนมูลค่าการนำเข้าจะขยายตัวเล็กน้อยในปีนี้ และเพิ่มสูงขึ้นในปีหน้า เมื่อโครงการลงทุนภาครัฐเดินหน้าต่อเนื่อง

ด้านการบริโภคเอกชนคาดว่าจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น และเพิ่มสูงขึ้นในปี 2560 แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตข้าว และผลผลิตการเกษตรลดลง บวกกับราคาสินค้าเกษตรที่ยังตกต่ำ และหนี้ครัวเรือนที่สูงถึงร้อยละ 81 ของจีดีพี ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวของการบริโภค

ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.6 และจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 2 ในปี 2560 เมื่อกำลังซื้อ และการบริโภคในประเทศเข้มแข็งขึ้น และระดับราคาน้ำมันสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่มีผลกระทบต่อจีดีพีไทย ประกอบด้วย ปัญหาภัยแล้งที่อาจจะรุนแรงยาวนานกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อรายได้ การบริโภคภาคเอกชน และการส่งออก การดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐ หากมีความล่าช้าจะมีผลกระทบอย่างมากต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย

ส่วนปัจจัยภายนอก หากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักขยายตัวน้อยกว่าที่คาดจะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย รวมทั้งความเสี่ยงเกี่ยวกับเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ผันผวนมากในปีนี้

นางลักษมณ กล่าวว่า เอดีบีรู้สึกเป็นห่วงการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่เติบโตต่ำ โดยเฉพาะในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ที่จีดีพีเฉลี่ยโตเพียงร้อยละ 2.5 ต่อปี ดังนั้น ประเทศไทยต้องมีการปรับโครงสร้างการศึกษา ส่งเสริมภาคบริการ เอสเอ็มอี และต้องมีการลงทุนด้านการวิจัย และพัฒนาให้มากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น