xs
xsm
sm
md
lg

ธนาคารโลกลดคาดการณ์จีดีพีของเอเชีย ชี้สาเหตุ ศก.จีนวูบ-เฟดขึ้นดอกเบี้ย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดร.จิม ยอง คิม ประธานธนาคารโลก
เอเจนซีส์ - ธนาคารโลกลดตัวเลขคาดการณ์อัตราเติบโตของพวกประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยระบุว่าเป็นผลพวงจากการชะลอตัวของจีน ถึงแม้เชื่อว่าเศรษฐกิจแดนมังกรจะไม่มีการดิ่งลงรุนแรง อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่งเวิลด์แบงก์เตือนด้วยว่า แนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะขยับขึ้นดอกเบี้ย ยังอาจทำให้เกิดปฏิกิริยารุนแรงในตลาด และฉุดค่าเงินในภูมิภาคนี้ให้อ่อนยวบลงอีก

ธนาคารโลกถือเป็นสถาบันการเงินระหว่างประเทศแห่งล่าสุด ที่ปรับลดตัวเลขพยากรณ์แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียลง โดยเมื่อเดือนที่แล้ว ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ระบุว่า การชะลอตัวในจีนอาจฉุดให้เศรษฐกิจของพวกประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคนี้วูบลงอยู่ที่ 5.8% ในปีปัจจุบัน ส่วนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ฟันธงเช่นกันว่า การเติบโตลดลงในแดนมังกรจะส่งผลคุกคามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

สำหรับรายงานอัปเดตการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจ 14 ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก ที่เวิลด์แบงก์นำออกเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (5 ต.ค.) ได้กล่าวเรียกร้องให้ประเทศเหล่านี้บรรเทาผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและการขึ้นดอกเบี้ยของฟด ด้วยการจัดการเศรษฐกิจมหภาคอย่างรอบคอบ

รายงานยังลดกระแสความกังวลเกี่ยวกับการทรุดตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ด้วยการแจกแจงว่า เส้นฐานการคาดการณ์การเติบโตของจีนบ่งชี้การชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงปี 2016-2017 ขณะเดียวกันปักกิ่งก็มีนโยบายที่เพียงพอในการจัดการความเสี่ยงและป้องกันเศรษฐกิจทรุดตัวอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ เวิลด์แบงก์คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีนในปีนี้จะอยู่ที่ 6.9% ก่อนขยับลงเหลือ 6.7% และ 6.5% ในปี 2016 และ 2017 เทียบกับที่ขยายตัวได้ 7.3% ในปี 2014

การคาดการณ์นี้ลดลงเล็กน้อยจากรายงานฉบับก่อนซึ่งเผยแพร่ในเดือนเมษายน

สำหรับพวกประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกยกเว้นจีน รายงานฉบับนี้ของธนาคารโลกคาดหมายว่า อัตราเติบโตเฉลี่ยจะอยู่ที่ 6.5% ในปีนี้ และ 6.4% และ 6.3% ในปีหน้าและปีถัดไป ลดลงจากอัตราขยายตัวเมื่อปีที่แล้วที่ทำได้ 6.8% ซึ่งน่าจะเป็นการสะท้อนผลกระทบจากการชะลอตัวในจีน

ประเทศที่อยู่ในรายงานการคาดการณ์ครั้งนี้ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม กัมพูชา ลาว พม่า มองโกเลีย ฟิจิ ปาปัวนิวกินี หมู่เกาะซาโลมอน และติมอร์ตะวันออก

รายงานบอกว่า ในบรรดาประเทศใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น คาดหมายว่าฟิลิปปินส์และเวียดนามจะสร้างผลงานดีที่สุด ขณะที่อินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งต่างเป็นผู้ส่งออกน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ภาวะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดวูบลงจะส่งผลทางลบต่ออัตราการเติบโต

ทั้งนี้ ธนาคารโลกคาดว่าจีดีพีฟิลิปปินส์ปีนี้จะอยู่ที่ 5.8% และขยายตัวต่อเนื่องเป็น 6.4% และ 6.2% ในปีหน้าและปี 2017 ตามลำดับ เทียบกับ 6.1% ในปีที่ผ่านมา

ส่วนเวียดนาม จีดีพีจะขยายตัวจาก 6% เมื่อปีที่แล้ว เป็น 6.2% ในปีนี้ และ 6.3% ในอีกสองปีถัดไป

สำหรับการเติบโตของมาเลเซียคาดว่าจะอยู่ที่ 4.7% ในปีนี้และปีหน้า ก่อนพุ่งขึ้นเป็น 5% ในปี 2017 อย่างไรก็ดี ถือว่ายังคงถือว่าลดลงค่อนข้างรุนแรงเมื่อเทียบกับอัตรา 6% ในปี 2014

ทางด้านเศรษฐกิจอินโดนีเซีย เวิลด์แบงก์พยากรณ์ว่าปีนี้จะขยายตัว 4.7% และเดินหน้าต่อเป็น 5.3% และ 5.5% ในปี 2016 และ 2017 เทียบกับ 5% เมื่อปีที่แล้ว

รายงานยังคาดว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะกระตุ้นให้เงินทุนไหลกลับจากพวกประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ไปยังอเมริกาเพื่อผลตอบแทนที่ดีกว่า พร้อมกันนี้ยังเตือนว่า แม้เหตุการณ์นี้เป็นที่คาดการณ์กันมานานแล้ว รวมทั้งมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ ทว่า ยังคงมีความเสี่ยงที่ตลาดอาจมีปฏิกิริยารุนแรงเกินไปในช่วงสั้นๆ

เพื่อรับมือความเสี่ยงดังกล่าวที่อาจเกิดกับการเติบโตของโลกและภูมิภาค รวมถึงต้นทุนและความพร้อมในการระดมทุนจากภายนอก ประเทศต่างๆ ในเอเชียควรปรับใช้การจัดการเศรษฐกิจมหภาคที่รอบคอบ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกและการคลังที่อ่อนแอ รวมถึงการปฏิรูปโครงสร้างในเชิงลึกโดยเน้นการกระตุ้นการลงทุนของเอกชน

แอ็กเซล ฟาน ทรอตเทนบวร์ก รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ระบุว่า มาตรการปฏิรูปดังกล่าวนี้รวมถึงการปรับปรุงกฎระเบียบด้านการเงิน แรงงานและตลาดสินค้า ตลอดจนมาตรการส่งเสริมความโปร่งใสและความสามารถในการตรวจสอบ


กำลังโหลดความคิดเห็น