xs
xsm
sm
md
lg

เคาะแพกเกจกระตุ้น ศก.ชุด 3 หนุนกิน-เที่ยวช่วงสงกรานต์ คาดดันจีดีพีเพิ่มได้อีก 0.2-0.4%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รมว.คลัง เผย ครม.เห็นชอบแพกเกจกระตุ้น ศก.รอบใหม่ พร้อมขยายเวลาลดหย่อนภาษีเที่ยวในประเทศอีก 1 ปี ตามที่กระทรวงการคลังเสนอฯ ส่วนการแจกเงินช่วยเหลือ ขรก.ยังไม่เสนอเข้า ครม. เนื่องจากรายละเอียดยังไม่เรียบร้อย ด้านทีดีอาร์ไอคาดมาตรการกระตุ้น ศก.ชุดที่ 3 จะช่วยกระตุ้นจีดีพีให้ขยายตัวได้ 0.2-0.4% ชดเชยผลกระทบจีดีพีหดตัวจากภัยแล้ง

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ เห็นชอบแพกเกจกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ที่กระทรวงการคลังเสนอ ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในการกินเที่ยวช่วงสงกรานต์ ทุกคนสามารถนำค่าใช้จ่ายอาหาร และเครื่องดื่มในร้านอาหารไม่รวมสุรา เบียร์ ไวน์ รวมทั้งค่าที่พักโรงแรม ค่าจ้างนำเที่ยว ระหว่างวันที่ 9-17 เมษายน 2559 ลดหย่อนในการคำนวณภาษีตามจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท

ทั้งนี้ ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งเสริมกิจกรรมครอบครัวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มั่นใจการลดหย่อนภาษีรอบนี้ไม่กระทบรายได้ภาครัฐมาก

นอกจากนี้ ต่ออายุมาตรการลดหย่อนภาษีจากการท่องเที่ยวในประเทศอีก 1 ปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2559 จากเดิมอายุวันที่ 30 ธันวาคม 2558 โดยจะให้นำค่าใช้จ่ายการท่องเที่ยวในประเทศทั้งค่านำเที่ยว ค่าที่พักโรงแรม ลดหย่อนภาษีไม่เกิน 15,000 บาท รวมทั้ง 2 มาตรการลดภาษีได้ 30,000 บาท ส่วนการแจกเงินช่วยเหลือราชการยังไม่เสนอ เนื่องจากรายละเอียดยังไม่เรียบร้อย

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุด 3 ซึ่งจะมีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา นับเป็นมาตรการที่ถูกทางแล้ว และไม่อาจเรียกได้ว่าประชานิยม ซึ่งเข้าใจได้ว่าควรจะดำเนินการในช่วงนี้ เพราะเศรษฐกิจยังซบเซาแม้ดีขึ้นกว่าปีก่อน แต่การส่งออกยังชะลอตัว ขณะที่ปัญหาภัยแล้งมีความรุนแรงกว่าที่คาดการณ์

นายสมชัย กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือเงินแก่ข้าราชการชั้นผู้น้อย และผู้มีรายได้น้อยรายละ 1,000 บาท จะทำให้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบประมาณ 10,000 ล้านบาท นับเป็นวงเงินที่ไม่มากนัก แต่จะทำให้เศรษฐกิจประคองตัวอยู่ได้ การลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยที่จะได้รับเงินช่วยเหลือ ช่วยให้รัฐบาลใช้ประโยชน์จากข้อมูลไปกำหนดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตรงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น

ขณะที่การใช้ค่าใช้จ่ายอาหาร และที่พักโรงแรมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ประชาชนมาหักลดหย่อนภาษีได้ มีผลต่อระบบเศรษฐกิจไม่มาก แต่จะมีผลทางจิตวิทยาในการกระตุ้นการท่องเที่ยวและใช้จ่ายมากขึ้น คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่ 3 ที่จะออกมานั้นจะมีผลต่อจีดีพีให้สูงขึ้นร้อยละ 0.1-0.2 และเมื่อรวมกับโครงการบ้านประชารัฐ ก็จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหนุนให้จีดีพีในปีนี้ให้ขยายตัวได้อย่างน้อยร้อยละ 0.2-0.4

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์จีดีพีปีนี้จะขยายตัวได้ร้อยละ 3 ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะสามารถลดความเสียหายจากปัญหาภัยแล้งที่คาดว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจ 60,000-100,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.5 จีดีพี และหากรวมทุกมาตรการอาจมีผลเสมอตัวกับภัยแล้งที่เกิดขึ้น

นายสมชัย กล่าวอีกว่า หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่ออกมาช่วยประคองเศรษฐกิจได้ รัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องออกมาตรการอีก เว้นแต่ปัญหาภัยแล้งรุนแรงขึ้น การส่งออกติดลบ อาจต้องพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมอีกระลอก แต่ควรเป็มมาตรการที่ใส่เงินลงระบบเศรษฐกิจไม่มาก แต่มีผลทางจิตวิทยาสูงเช่นเดียวกับมาตรการชุดที่ 3

ขณะที่การสัมมนาวิชาการ ประจำปี 2559 ของทีดีอาร์ไอในหัวข้อ “ปรับบทบาทรัฐไทย ให้ประชาชนได้บริการที่ดี” นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ตนเองได้เสนอรัฐบาลยกระดับการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้ อปท.สามารถให้บริการที่ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของประชาชนได้มากขึ้น โดยเสนอให้ดำเนินการใน 3 เรื่อง ดังนี้

1.เพิ่มความเป็นอิสระในการตัดสินใจของ อปท.ให้พ้นจากการแทรกแซงของนายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งมีอำนาจให้ความเห็นชอบร่างข้อบัญญัติท้องถิ่น และอนุมัติงบประมาณ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย

2.สร้างแรงจูงใจให้ อปท.ขนาดเล็กควบรวมกันให้เกิด อปท.ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และมีความสามารถในการให้บริการแก่ประชาชนได้ดีขึ้น และ 3.สร้างกลไกให้ อปท.รับผิดต่อประชาชนในพื้นที่มากขึ้น โดยกำหนดมาตรฐานการให้บริการ และให้ อปท.เปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนเพิ่มขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น