นักวิจัยเกษตรทีดีอาร์ไอ วิจารณ์นโยบายแก้ปัญหายางพารา “บิ๊กตู่” เพิ่มการใช้ หรือแปรรูปยางในประเทศให้ได้ถึง 50% เหมือน “อัฐยาย(ภาษีประชาชน)” มาซื้อ “ขนมลุง” แนะต้องใช้เวลาผลักดันการแปรรูปยางในประเทศให้ได้เป้า 50% ชี้ “มาเลเซีย” ผลิตใช้มากกว่า 50% ยังกำหนดราคาในตลาดโลกไม่ได้
วันนี้ (10 ก.พ.) มีรายงานว่า สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยแพร่บทความเมื่อเร็วๆ นี้ เรื่องข้อมูล/ข้อเท็จจริงที่สำคัญบางประการ ประกอบการอภิปรายเรื่องการแก้ปัญหายางพาราโดยเพิ่มการแปรรูปและใช้ยางในประเทศ เขียนโดย ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัย ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร ทีดีอาร์ไอ ที่ได้เขียนวิจารณ์ “นโยบายของนายกรัฐมนตรี” ที่ต้องการเพิ่มการใช้ หรือแปรรูปยางในประเทศให้ได้ถึง 50% ของผลผลิตหรือมากกว่า 2 ล้านตันจากที่ใช้อยู่ในขณะนี้ 1.4 ล้านตัน
ตอนหนึ่งงานเขียนนี้ระบุว่า การที่เราใช้ยางเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงนี้ เป็นผลมาจากที่นักธุรกิจที่เห็นลู่ทางการทำกำไรจากการผลิตขายหรือส่งออกก็มักจะกระโจนเข้ามาลงทุนเมื่อเห็นโอกาสอยู่แล้ว
“แต่การที่จะเพิ่มการใช้/แปรรูปในประเทศให้เท่ากับตัวเลขที่นายกรัฐมนตรีคิด(ผิด)ว่าเราใช้อยู่ 1.4 ล้านตัน หรือเป้าที่ท่านและคนจำนวนมากบอกว่าเราควรจะใช้ เช่น 50% หรือ มากกว่า 2 ล้านตันนั้น เป็นจำนวนที่สูงเสียจนไม่มีใครที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้จริงๆ จะเชื่อว่าสามารถทำได้ในระยะเวลาอันสั้น เว้นแต่รัฐจะเอาเงินภาษีมาผลาญปีละหลายแสนล้านเพื่อให้ผลิตสินค้า (ที่ปกติไปขายใครอื่นแทบไม่ได้หรือไม่คุ้ม) มาขายให้รัฐบาลที่จะเอา “อัฐยาย(ภาษีประชาชน)” มาซื้อ “ขนมลุง” ซึ่งเอาเข้าจริงก็จะใช้ยางเพิ่มขึ้นอีกไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของที่ผลิตได้อยู่ดี (และจากกรณีมาเลเซีย ก็จะเห็นได้ว่า ต่อให้ใช้/แปรรูปในประเทศมากกว่า 50% มากกว่าส่งออก ก็ไม่ได้ทำให้กำหนดราคายางในประเทศเองได้)”
นักวิจัยผู้นี้เขียนด้วยว่า การใช้ยางในประเทศสัดส่วนที่ 10-15% ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้ราคายางต่ำ/ตก ตอนที่ยางราคาสูงลิ่วสัดส่วนใช้ในประเทศก็เท่านี้ สัดส่วนการใช้ยางของเราขึ้นจาก 7.7% ในปี 2537 เป็น 10.3% ในปี 2543 เป็น 15% ในปี 2553 แต่ลดลงมาเหลือ 12.5% ในปี 2556-2557 เพราะผลผลิตเราเพิ่มในอัตราที่เร็วกว่าการใช้ ดังนั้นเมื่อยางราคาตก เรื่องนี้กลายเป็นแพะ และกลายเป็นข้อเรียกร้องลมๆ แล้งๆ (เพราะถ้ามีความรู้ด้านเศรษฐกิจ ยาง และเศรษฐศาสตร์ ก็จะรู้ว่ายังไงก็ทำไม่ได้ในระยะเวลาอันสั้น และถึงทำได้ก็ไม่สามารถแก้ ปัญหาราคา) ในทุกครั้งไป (และเรียกร้องแบบเดียวกันในแทบทุกพืชที่ราคาตกหรือราคาไม่เป็นที่พอใจด้วย)
“ในแง่หนึ่ง ข้อมูลที่มีสรุปได้ว่าเราประสบความสำเร็จเรื่องยางและแซงมาเลเซียไปแล้วทุกด้าน รวมทั้งด้านการใช้ยางซึ่งถือกันว่าเป็นจุดแข็งของมาเลเซีย และขณะที่เราไม่ควรทุ่มกับยางแบบสุดตัวแบบที่เกษตรกรจำนวนมากทำในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เราก็ไม่ควรทิ้งยางที่เรามีข้อได้เปรียบอีกสองประเทศในหลายด้าน อินโดนีเซียมีพื้นที่ปลูกมากกว่า แต่ผลผลิตน้อยกว่าเราในทางกลับกัน มาเลเซียมีข้อได้เปรียบเรื่องปาล์ม ซึ่งเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก โดยเฉพาะในด้านปริมาณน้ำฝน รวมทั้งพัฒนาในด้านพันธุ์และด้านอื่นๆ ไปไกลกว่าเรามาก และการที่เราเสียเปรียบเรื่องน้ำ ก็ทำให้ยังมองไม่เห็นทางที่เราจะแข่งเรื่องปาล์มกับมาเลเซียตรงๆ ได้เลย”