xs
xsm
sm
md
lg

หมอห้องคลอดเดือด ซัด “ทีดีอาร์ไอ” หมิ่นปกปิดข้อมูลแม่ตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
หมอห้องคลอดเดือด ซัดนักวิจัยทีดีอาร์ไอหมิ่น “แพทย์ - สธ.” ปกปิดการตายของมารดา แจงตัวเลขตายน้อย เพราะนับการตายแค่ใน รพ. จี้แสดงความรับผิดชอบ เผยข้อมูลแม่ตายของกรมอนามัยชัดเจนสุด ตัวเลขใกล้เคียงทีดีอาร์ไอ เหตุใดไม่ยกมาเทียบ เสนอแก้ภาวะตกเลือด 30 นาที ช่วยป้องกันการตาย แนะโรคทางอายุกรรมวางแผนมีบุตรก่อนตั้งครรภ์

พล.อ.ต.หญิง พญ.สุรีย์พร บุญจง กองสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงกรณีนักวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ออกมาเปิดเผยงานวิจัยเรื่อง “ผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ” กรณีอัตราการเสียชีวิตของมารดาต่อการเกิดมีชีพแสนคน (MMR) โดยตัวเลขของทีดีอาร์ไอสูงกว่าตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หลายเท่า เพราะแพทย์ไม่ได้รายงานว่าเป็นการเสียชีวิต เพราะการคลอดทั้งหมด ว่า งานวิจัยของทีดีอาร์ไอเป็นการดูหมิ่นสูตินรีแพทย์ เพราะแสดงข้อมูล MMR ของทีดีอาร์ไอ และ สธ. ที่แตกต่างกันมาก ทั้งที่รู้ว่ารายงานของ สธ. เป็นข้อมูลที่ได้จากสถานพยาบาลเท่านั้น ไม่ได้รวมการตายของมารดาทั่วประเทศที่เกิดขึ้นนอกสถานพยาบาล เพราะต้องการปรับปรุงการดูแลมารดาและทารกในครรภ์ในสถานพยาบาล ซึ่งจะเห็นได้ว่า MMR ลดลงเป็นลำดับ เหตุใดจึงไม่แสดงในบทวิจารณ์ให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อนำมาสู่การร่วมมือจากหลายองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อลด MMR ในระดับประเทศ แต่กลับนำเสนอข้อมูลที่แตกต่างกันไว้ลอย ๆ ให้คนคิดเอาเองว่า ข้อมูลจาก สธ. เชื่อถือไม่ได้ เมื่อเกิดการตายของมารดา แพทย์มักปกปิด จึงควรออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อความเห็นที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สูตินรีแพทย์ และ สธ.

ด้าน นพ.สุธิต คุณประดิษฐ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมสาขาสูติ - นรีเวชกรรม หัวหน้ากลุ่มงานสูติ - นรีเวชกรรม รพ.ลำพูน กล่าวว่า สธ. เก็บข้อมูลอัตราการเสียชีวิตของมารดาภายในสถานพยาบาลเท่านั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่ตัวเลขจะน้อยกว่าทีดีอาร์ไอ แต่หลักเกณฑ์ในการเก็บตัวเลขนั้นเหมือนกัน คือ การเสียชีวิตขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด 42 วัน ยืนยันว่า สธ. ไม่ได้มีการปกปิดข้อมูลการเสียชีวิต เพราะอย่างกรมอนามัยที่เพิ่งทำข้อมูลอัตราการเสียชีวิตของมารดา โดยอาศัยข้อมูลการเสียชีวิตของผู้หญิงจากทั่วประเทศแล้วมาแยกดูความเกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ โดยอาศัยหลักเกณฑ์เดียวกับทีดีอาร์ไอ ซึ่งผลเพิ่งออกมาเมื่อ มิ.ย.- ก.ค. ที่ผ่านมา ก็พบว่าภาพรวมของประเทศไทยอัตราการเสียชีวิตของมารดา หรือ MMR อยู่ที่ 32 ต่อแสนประชากร ตัวเลขก็ใกล้เคียงกับทีดีอาร์ไอ เหตุใดทีดีอาร์ไอไม่เอาตัวเลขตรงนี้มาพูดด้วย แต่กลับนำตัวเลขของ สธ. ที่รายงานโดยแพทย์ ซึ่งทราบดีอยู่แล้วว่าไม่ได้รวมการเสียชีวิตนอกโรงพยาบาล

นพ.สุธิต กล่าวว่า สธ. ตั้งเป้าหมายว่าจะลดอัตราการเสียชีวิตของมารดาให้ได้เหลือ 15 ต่อแสนประชากร ขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็เร่งดำเนินการกันอยู่ โดยเฉพาะการเสียชีวิตจากอาการตกเลือดหลังคลอด และความดันโลหิตสูง ซึ่งสามารถป้องกันได้ อย่างเขตสุขภาพที่ 1 ก็พบว่าการเสียชีวิตของมารดา 40% มาจากการตกเลือดหลังคลอด ก็มีการวางหลักเกณฑ์ว่าต้องช่วยเหลือให้ได้ภายใน 30 นาที เพราะมีรายงานจากต่างประเทศ ว่า หากไม่สามารถรักษาได้ภายใน 2 ชั่วโมง มักจะเสียชีวิต ซึ่งการดูแลรักษาก็จะมีการให้ยาเพิ่มการหดรัดตัวของมดลูกให้ดีขึ้น แต่ปัญหาคือ มักจะรอการตอบสนองของยา เพราะฉะนั้นหากให้ยาแล้วยังไม่พบการตอบสนองของมดลูก ก็ต้องมีการประเมินแล้วว่าเกิดจากสาเหตุอื่นใดหรือไม่ ต้องผ่าตัดหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการเสนอทั้งกรมอนามัย กรมการแพทย์ และ สธ. แล้วว่าต้องดำเนินการเช่นนี้ นอกจากนี้ ยังต้องดำเนินการในเรื่องของการฝากครรภ์คุณภาพ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ

ส่วนการเสียชีวิตจากเหตุอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ และการคลอด แต่ส่งผลให้มารดาเสียชีวิตได้ เช่น โรคหัวใจ โรคภูมิแพ้ตัวเอง (SLE) วัณโรค ก็ต้องดำเนินการควบคู่ไปด้วย เพราะเมื่อตั้งครรภ์หัวใจจะทำงานหนักมากขึ้นเป็น 2 เท่ากว่าคนไม่ตั้งครรภ์ ดังนั้น หากมีโรคหัวใจก็จะมีความเสี่ยง ดังนั้น ผู้ที่มีโรคทางอายุรกรรมเหล่านี้ก็ไม่ควรตั้งครรภ์ แต่ไม่ได้หมายความว่าห้ามมีลูกเลย แต่หากจะมีลูกก็ควรต้องปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนครอบครัว วางแผนการมีบุตร ว่า อาการ หรือโรคที่เป็นอยู่สามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่ หากตั้งครรภ์แล้วเสี่ยงเสียชีวิตสูงก็ไม่ควรตั้งครรภ์ หากตั้งครรภ์ได้ก็ต้องมาฝากครรภ์เป็นประจำ ดูแลเป็นพิเศษมากกว่าหญิงตั้งครรภ์ทั่วไป เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ” นพ.สุธิต กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น