xs
xsm
sm
md
lg

ท้วงอัตราแม่ตายขณะคลอด “ทีดีอาร์ไอ” สูงเกินจริง เหตุเหมารวมตายอื่นไม่เกี่ยวกับคลอด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อานนท์” ท้วงงานวิจัยทีดีอาร์ไอรายงานอัตราแม่ตายระหว่างคลอดสูงกว่าตัวเลข สธ. หลายเท่า ชี้เหมารวมการตายอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการคลอดทำตัวเลขพุ่ง ด้านหมอสูติฯ เผยอัตราแม่ตายดูจากภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ระหว่างคลอด และหลังคลอด ชี้ภาวะเสี่ยงอย่างมากไม่เกิน 7 วันหลังคลอด พบงานวิจัยทีดีอาร์ไอใช้ตัวเลขแม่ตายใน 42 วันหลังคลอด

วันนี้ (27 ส.ค.) ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำสาขาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงกรณี ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยถึงงานวิจัยเรื่อง “ผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ” ที่ศึกษาพบอัตราการเสียชีวิตของมารดาต่ออัตราการเกิดมีชีพแสนคน (MMR) สูงกว่าตัวเลขที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานมากกว่าหลายเท่าตัว ว่า จากการศึกษางานวิจัยเรื่องดังกล่าวฉบับเต็มของทีดีอาร์ไอแล้ว พบว่า การคำนวณอัตราการเสียชีวิตมารดาจากการคลอดนั้น กระทำโดยขาดความรู้ทางการแพทย์และระบาดวิทยา เนื่องจากนิยามอัตราตายจากการคลอดที่องค์การอนามัยโลกนิยามไว้จะต้องเป็นการตายที่เกี่ยวกับการคลอดเท่านั้น แต่งานวิจัยดังกล่าวกลับรวบรวมการเสียชีวิตของมารดาทั้งจากการตายจากรถชน เป็นเอดส์ ฆ่าตัวตาย ถูกยิงตายเข้ามารวมกันไว้ทั้งหมด อย่างพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 ซึ่งเป็น 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความไม่สงบ ตัวเลขจึงสูงมากเป็นพิเศษ ดังนั้น จึงทำให้ตัวเลขอัตราการตายของมารดาจากการคลอดของทีดีอาร์ไอสูงกว่าของ สธ. หลายเท่า

ด้าน ศ.นพ.สมบูรณ์ คุณาธิคม อดีตประธานราชวิทยาสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนยังไม่เห็นงานวิจัยดังกล่าว จึงไม่แน่ใจว่าทีดีอาร์ไอมีการคำนวณอัตราการตายของมารดาที่เกิดจากการคลอดอย่างไร แต่โดยหลักการทางการแพทย์นั้น จะพิจารณาว่าช่วงระหว่างตั้งครรภ์มีภาวะแทรกซ้อนจนทำให้เสียชีวิตหรือไม่ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ ตำแหน่งของรกไม่ดี หรือเกิดบางโรคขึ้นอย่างกะทันหัน เช่น ตับหยุดทำงานหรือทำงานไม่ดี จนส่งผลให้เสียชีวิต เป็นต้น ส่วนช่วงระหว่างคลอด ก็จะมีเรื่องของการตกเลือด น้ำคร่ำอุดตัน การติดเชื้อระหว่างคลอด ขณะที่ช่วงหลังคลอดนั้นความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้มักอยู่ในช่วง 7 วันเช่นเดียวกับเด็กทารก เช่น การติดเชื้อหลังคลอด เป็นต้น แต่หากเกิน 1 เดือนไปแล้วคงไม่น่านำมาพิจารณาคำนวณ

ผู้สื่อข่าวถามถึงโรคเอดส์ วัณโรค ที่ทำให้มารดาเสียชีวิตจะนับเป็นอัตราการตายจากการคลอดด้วยหรือไม่  ศ.นพ.สมบูรณ์ กล่าวว่า โรคดังกล่าวเหล่านี้ รวมไปถึงพวกโรคหัวใจ โรคไต ต้องพิจารณาว่าเป็นในช่วงตั้งครรภ์หรือไม่ ถ้าเป็นโรคเหล่านี้มาก่อนแล้วควบคุมได้ดี แต่เมื่อตั้งครรภ์แล้วแล้วอาการแย่ลงก็ต้องถือว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ แต่หากก่อนตั้งครรภ์ก็เป็นหนักอยู่แล้ว และมาเป็นมากขึ้นอีกระหว่างตั้งครรภ์จนเสียชีวิตตรงนี้บอกได้ยากว่าเป็นการตายจากการตั้งครรภ์ หรือการคลอดหรือไม่ ตรงนี้ต้องมาดูที่รายละเอียดว่าการคำนวณของทีดีอาร์ไอนั้นพิจารณาอย่างไร ทั้งนี้ การฝากครรภ์เป็นประจำสม่ำเสมอจะสามารถช่วยลดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้  เพราะหากมีความผิดปกติแพทย์จะสามารถตรวจพบได้ทันทีและให้การรักษา ก็จะช่วยลดความเสี่ยงและอัตราการเสียชีวิตลงได้ ยกเว้นบางภาวะที่ป้องกันไม่ได้ เช่น น้ำคร่ำไหลเข้าไปในเส้นเลือดของมารดาแล้วอุดตัน ซึ่งอัตราการเกิดภาวะนี้จะน้อย แต่ป้องกันไม่ได้ หากอาการไม่รุนแรงก็อาจรักษาได้ แต่หากรุนแรงแม้แพทย์จะดูแลรักษาอย่างเต็มที่แล้วก็อาจเสียชีวิตได้ตามพยาธิสภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งานวิจัยเรื่อง “ผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ” การนับจำนวนมารดาที่ตายเมื่อมีการเกิดมีชีพ ได้อาศัยข้อมูลจำนวนมารดาจากฐานข้อมูลการเกิดและตายจากทะเบียนราษฎรปี 2550 - 2554 โดยเป็นจำนวนมารดาที่ตายภายใน 42 วันหลังเด็กเกิด ตามนิยามขององค์การอนามัยโลก โดยสาเหตุการตายไม่ใช่อุบัติเหตุ ฆ่าตัวตาย หรือถูกฆาตกรรม และใส่ชื่อโรคของการตาย ส่วนมารดาตายที่ยังไม่มีการคลอด อาศัยฐานข้อมูลผู้ป่วยในจาก สกส. และ สปสช. ปี 2550 - 2554 โดยนับการตายของมารดาภายใน 270 วันหลังตั้งครรภ์ หรือภายใน 42 วันหลังการคลอด โดยสาเหตุการตายที่นับคือ ตกเลือด เชื้อราในสมอง พิษแห่งครรภ์ ติดเชื้อ น้ำคร่ำอุดตัน ความดัน คลอดติดขัด แท้งโดยแพทย์ แท้งอื่น ๆ (ไม่แพทย์) มะเร็ง เอดส์ วัณโรค ไม่ทราบ และอื่น ๆ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น