ทีดีอาร์ไอสำรวจพบรถโดยสารสาธารณะขับเร็ว - บรรทุกเกิน ผู้โดยสารพึงพอใจความปลอดภัยรถเมล์ กทม. รถตู้กรุงเทพฯ รถตู้ระหว่างจังหวัดไม่ถึงครึ่ง พึงพอใจรถทัวร์มากสุด แนะออกระเบียบโครงสร้างมาตรฐานโครงสร้างรถ ระงับใบอนุญาตหากพบพนักงานขับรถไม่ผ่านเงื่อนไขความปลอดภัย เพิ่มวงเงินเยียวยาประกันภัย
ดร.สุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อกาารพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำเสนอการประเมินคุณภาพและความปลอดภัยระบบรถโดยสารสาธารณะ ในการสัมมนาระดับชาติ เรื่อง “ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 12” ว่า จากการสอบถามผู้โดยสารในกรุงเทพฯ ด้วยแบบสอบถามจำนวน 1,029 ชุด แบ่งเป็นรถโดยสารประเภท รถเมล์ 307 ชุด รถเมล์ระหว่างจังหวัด (รถทัวร์) 413 ชุด รถตู้ภายในกรุงเทพฯ 187 ชุด และรถตู้หว่างจังหวัด 122 ชุด พบว่า ผู้โดยสารมีความพึงพอใจภาพรวม และความพึงพอใจในความปลอดภัย รถเมล์กรุงเทพฯ 41% และ 47 % รถทัวร์ 69%และ 69% รถตู้กรุงเทพฯ 41% และ 57% และรถตู้ระหว่างจังหวัด 56% และ 49% ซึ่งเหตุผลในการเลือกใช้รถโดยสาร ในเรื่องมีความสะดวกเป็นปัจจัยหลักในการเลือกโดยสารรถทัวร์ รถตู้ กทม.และต่างจังหวัด ส่วนความรวดเร็วเป็นปัจจัยเลือกใช้รถตู้ทั้ง 2 ประเภท และค่าโดยสารถูกเป็นจุดเด่นของรถเมล์ใน กทม.
ดร.สุเมธ กล่าวว่า ผลการสำรวจ พบด้วยว่า รถตู้ระหว่างจังหวัด 7% และรถตู้ใน กทม. 12 % บรรทุกผู้โดยสารเกินที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งผู้โดยสารจำนวนมากที่ใช้บริการผิดกฎหมาย หรือบางส่วนที่ทราบแต่ยังใช้บริการรถตู้ผิดกฎหมาย คือ รถที่มีป้ายทะเบียนสีขาว ทั้งนี้ ค่าโดยสารเฉลี่ยของรถตู้ผิดกฎหมายยังสูงกว่ารถตู้ที่ถูกกฎหมายถึง 18% และกว่าร้อยละ 20 ของผู้โดยสารรถเมล์ใน กทม. และรถตู้ทั้ง 2 ประเภท คิดว่าผู้ขับขับรถเร็วเกินไป นอกจากนี้ การสำรวจรถโดยสารในต่างจังหวัด โดยเครือข่ายมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) แบ่งเป็น ผู้โดยสารรถทัวร์ 1,784 ราย และรถตู้ระหว่างจังหวัด 3,885 ราย พบว่า รถตู้มีการขับขี่เร็ว ราว 26 % ส่วนรถทัวร์ขับขี่เร็ว 10% บรรทุกผู้โดยสารเกิน 10%
“ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเรื่องยานพาหนะปลอดภัย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. โครงสร้าง ต้องมีการออกระเบียบกำหนดมาตรฐานโครงสร้างรถโดยสารสาธารณะทุกชนิดรวมถึงการยึดเกาะที่นั่ง ยกระดับการตรวจสอบรถโดยสารทุก 6 เดือน โดยใช้อุปกรณ์ตรวจสอบที่ได้มาตรฐาน 2. พนักงานขับรถ ต้องมีการกำหนดเงื่อนไขความปลอดภัยในการออกแบบใบอนุญาตและมีการประเมินติดตามอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง หากพบไม่ผ่านต้องระงับใบอนุญาต รวมถึงให้ข้อมูลการลงโทษผู้ประกอบการและผู้ขับขี่ในการกรณีทำผิดมาตรฐานด้านความปลอดภัย และ 3. การชดเชยเยียวยา หลังเกิดอุบัติเหตุต้องสอบสวนและเปิดเผยต่อสาธารณะ เพิ่มวงเงินประกันภัยภาคบังคับจาก 2 แสน เป็น 1 ล้านบาทต่อราย และยกระดับสายตรวจรถโดยสารสาธารณะที่สามารถตรวจประวัติผู้ประกอบการผ่านระบบออนไลน์” ดร.สุเมธ กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่