ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย ลงสัญญาซื้อขายไฟฟ้าขนาด 200 MW กับกระทรวงพลังงานสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า พร้อมรับการสนับสนุนจากรัฐบาลพม่าให้ก๊าซธรรมชาติที่จะนำมาผลิตไฟฟ้าทั้งหมดโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แถมได้ค่าตอบแทนการขายไฟฟ้าหน่วยละ 1.18 บาท มีระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี มูลค่าการลงทุน 10,000 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2559 ณ กระทรวงพลังงานสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ได้มีพิธีลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ขนาด 200 MW ระหว่าง นายอุปกิต ปาจรียางกูร กรรมการบริษัท ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ UPA กับกระทรวงพลังงานสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า โดยมี ฯพณฯ HE UKhin Mg Soe รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานทั้ง 2 ท่าน ร่วมเป็นสักขีพยาน คือ ฯพณฯ HE U Aung Than Oo และ ฯพณฯ HE U Maw Tha Htwe เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังก๊าซธรรมชาติ cogeneration ขนาด 200 MW ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองกันบก จังหวัดทวาย รัฐทะนินทายี โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลพม่าให้ก๊าซธรรมชาติที่จะนำมาผลิตไฟฟ้าทั้งหมดโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และบริษัทได้รับค่าตอบแทนจากการขายไฟฟ้าหน่วยละ 1.18 บาท ถือว่าเป็นราคาสูงที่สุดเท่าที่รัฐบาลพม่าเคยให้ โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี มูลค่าการลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่บริษัท โดยหลังจากเซ็น PPA ในวันนี้ (29 มี.ค.) แล้ว ทางบริษัทก็จะเดินหน้าหาแหล่งทุนสนับสนุนเพื่อจะได้ก่อสร้าง และดำเนินการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ได้ภายในปี 2563 ตามแผนงานต่อไป
นอกจากนี้ โครงการนี้ยังเป็นโรงไฟฟ้าแห่งแรกของเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei Special Economic Zone : DSEZ) ซึ่งทวายเป็นประตูสู่ยุโรป ตะวันออกกลาง และอินเดีย ของอาเซียน เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายจึงเป็นแหล่งการลงทุนใหม่ในกลุ่มอาเซียนที่มีศักยภาพสูง ทำให้ในอนาคตอันใกล้ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มมากขึ้นตามการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ทางรัฐบาลพม่าจึงได้เตรียมแผนงานเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 500MW รองรับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจพม่าไว้แล้ว ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น UPA ก็สนใจที่จะยื่นขอทำโครงการต่อเนื่องนี้ด้วย
ดังนั้น การลงนาม PPA ในครั้งนี้จึงมีความสำคัญมาก เพราะนอกจากจะส่งผลดีต่อบริษัท UPA แล้ว ยังถือเป็นความสำเร็จของประเทศไทยที่ได้ปักธงการลงทุนในทวายได้สำเร็จเป็นชาติแรก ในขณะที่นักลงทุนจากประเทศต่างๆ ได้พยายามแข่งขันกันเข้าไปรับสัมปทานจากรัฐบาลพม่า ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนชาวไทย และประเทศไทยได้ต่อยอดธุรกิจการลงทุนในพม่าได้เป็นอย่างดี
นายอุปกิต กล่าวว่า ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในบริษัท UPA เมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา ตนและทีมผู้บริหารมีความตั้งใจ และทุ่มเทอย่างหนักที่จะมาพลิกฟื้นธุรกิจของบริษัท ทำให้การดำเนินงานของบริษัท UPA มีผลประกอบการที่ดีอย่างยั่งยืน มีโครงการลงทุนที่มีศักยภาพ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตของบริษัท UPA อย่างมั่นคงในอนาคต เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น จนทำให้สามารถเซ็นสัญญา PPA สำเร็จในวันนี้ ซึ่งบริษัทได้ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นที่ลาว อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ส่วนที่พม่า บริษัทกำลังทำการศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าอีกแห่ง และอยู่ระหว่างการเจรจากับทางหน่วยงานของพม่า
นอกจากนี้ UPA ยังมีธุรกิจรอง คือ บริษัทอินฟอร์เมติก จำกัด ซึ่งทำธุรกิจสื่อสาร และเทคโนโลยี โดยเป็นเจ้าของสินค้าเอง (Proprietary) ธุรกิจสื่อสารบนแพลตฟอร์มของอินเทอร์เน็ต ซึ่ง 2 เดือนแรกของปีนี้สามารถทำรายได้แล้วกว่า 60 ล้านบาท และกำลังเข้ายื่นประกวดราคากับหน่วยงานของรัฐ และเอกชนอีกหลายโครงการ