xs
xsm
sm
md
lg

โปแลนด์ผวากลับลำไม่รับโควตาผู้ลี้ภัย หวั่นเจอก่อการร้ายซ้ำรอยบรัสเซลส์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางบีทา ซีดโล นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ วางดอกไม้บริเวณทางเข้าของสถานทูตเบลเยียม ในกรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์เมื่อวันพุธ(23มี.ค.) แสดงความไว้อาลัยแก่เหยื่อก่อการร้ายวินาศกรรมกรุงบรัสเซลส์
เอเอฟพี - นางบีทา ซีดโล นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ ประกาศในวันพุธ (23 มี.ค.) ว่าวอร์ซอจะไม่รับส่วนแบ่งผู้อพยพภายใต้แผนของอียู สืบเนื่องจากเหตุนักรบญิฮัดโจมตีกรุงบรัสเซลส์ เข่นฆ่าชีวิตผู้คน 31 ศพ

โปแลนด์นับเป็นสมาชิกอียูชาติแรกที่ใช้มาตรการนี้ ตามหลังเกิดเหตุระเบิดโจมตีสนามบินและสถานีรถไฟฟ้าของบรัสเซลส์ในวันอังคาร (22 มี.ค.) ซึ่งนอกจากผู้เสียชีวิตข้างต้นแล้ว ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 270 ราย ในนั้นรวมถึงชาวโปแลนด์ 3 คน และอ้างความรับผิดชอบโดยพวกรัฐอิสลาม (ไอเอส)

“ตามหลังสิ่งที่เกิดขึ้นในบรัสเซลส์เมื่อวันอังคาร ตอนนี้มันเป็นไปไม่ได้แล้วที่จะบอกว่า โอเค เราจะตอบรับจำนวนผู้อพยพใดๆ ทั้งหมด” นางซีดโลกล่าวกับสถานีโทรทัศน์เอกชนแห่งหนึ่ง

ก่อนหน้านี้รัฐบาลพรรคกฎหมายและยุติธรรมของเธอ ซึ่งมีแนวคิดอนุรักษนิยมและต่อต้านอียู เคยมีความตั้งใจอ้าแขนรับผู้ลี้ภัย 7,000 คน ตามที่รัฐบาลชุดก่อนของนางอีวา โคปราซ ตกลงไว้

ยุโรปกำลังดิ้นรนต่อสู้กับวิกฤตผู้อพยพครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยแค่ปีที่แล้วปีเดียวมีผู้ลี้ภัยราว 1.2 ล้านคนไหลบ่าเข้ามายังยุโรป ส่วนใหญ่เป็นชาวซีเรียที่หลบหนีภัยสงครามผ่านตุรกีและกรีซ

“เหนือสิ่งอื่นใด เราต้องรับประกันความปลอดภัยของพลเมืองของเรา” ซีดโลกล่าว พร้อมเรียกร้องให้ยุโรปอย่าอ้าแขนรับพวกผู้ลี้ภัยที่หลบหนีเข้ามา ด้วยเหตุผลเพียงแค่ต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ในหมู่ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ “มีพวกก่อการร้ายแฝงตัวมาด้วย” เธอกล่าว

ผู้อพยพชุดแรกมีกำหนดเดินทางมาถึงโปแลนด์ในช่วงปลายเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายน หลังจากเหล่าผู้นำอียูฟันฝ่าข้อถกเถียงจนบรรลุข้อตกลงในเดือนกันยายน ปีก่อน ในการแบ่งโควตารับผู้ลี้ภัยราว 120,000 คนกระจายออกไปตามประเทศสมาชิก

สาธารณเช็ก ฮังการี โรมาเนีย และสโลวาเกีย โหวตคัดค้านข้อตกลงนี้ ขณะที่โปแลนด์ ภายใต้การนำของรัฐบาลพรรค Civic Platform ณ ขณะนั้นยกมือเห็นชอบ

ซีดโลปกป้องการใช้แนวทางระมัดระวังในการรับผู้ลี้ภัยเข้ามายังโปแลนด์ และบอกว่าประเทศของเธอดำเนินการตามอย่างกลุ่มประเทศวิเชอกราด (เช็ก, ฮังการี, สโลวาเกีย) เช่นเดียวกับโครเอเชีย และโรมาเนีย

“จุดยืนของเราคือต้องรอบคอบอย่างมาก ความไม่ระมัดระวังคือต้นตอของปัญหาที่เรากำลังเผชิญในตอนนี้” เธออ้างถึงกรณีการด่วนยินยอมให้พวกผู้ลี้ภัยไหลบ่าเข้ามายังยุโรป พร้อมระบุว่า “ตามหลังการโจมตีในบรัสเซลส์และก่อนหน้านี้ที่ปารีส ฉันเสียใจที่ต้องบอกว่าอียูไม่ใคร่ใส่ใจบทเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้น”


กำลังโหลดความคิดเห็น