xs
xsm
sm
md
lg

หมึกยังไม่ทันแห้ง “อังการา” ส่งยามฝั่งจับ 16 ค้ามนุษย์ 1,734 ลี้ภัยทันที หลังบรรลุข้อตกลงกับอียู “หยุดลี้ภัยเข้ากรีซ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - เมื่อวานนี้ (17 มี.ค) ตุรกีและสหภาพยุโรปบรรลุข้อตกลงร่วมหยุดผู้อพยพเดินทางเข้ากรีซ โดยตุรกียอมรับปากจะรับผู้อพยพทุกคนที่เดินทางเข้ากรีซผิดกฎหมาย และในวันเดียวกันได้ส่งกองกำลังทหารเรือ ยามฝั่ง และตำรวจในปฏิบัติการหยุดผู้อพยพที่ จ.อิซเมียร์ (Izmir) สามารถจับกุมนักค้ามนุษย์ 16 คน และผู้ลี้ภัยอีกถึง 1,734 คน

รอยเตอร์รายงานเมื่อวันศุกร์ (18 มี.ค)สหภาพยุโรปทั้ง 28 ชาติ สามารถกล่อมตุรกีให้ยอมรับข้อตกลงหยุดการเดินทางเข้ายุโรปของผู้อพยพสำเร็จ ในข้อแลกเปลี่ยนที่อังการาจะได้รับเงินสนับสนุน รวมไปถึงให้สิทธิกรณีพิเศษกับพลเมืองเติร์กสามารถเดินทางเข้าประเทศพรมแดนเชงเก้น และกำหนดเวลาการหารือระหว่างอียูและตุรกีในการเข้าเป็นสมาชิกยุโรป

รอยเตอร์ชี้ว่า ข้อตกลงร่วมนี้มีจุดประสงค์เพื่อปิดเส้นทางอพยพหลักจากตะวันออกกลางเข้าสู่ยุโรปโดยผ่านทางทะเลอีเจี้ยนเข้าสู่กรีซ

แต่กระนั้นรอยเตอร์ตั้งข้อสงสัยว่า ข้อตกลงที่เพิ่งลุล่วงไปนั้น จะสามารถใช้ได้ในทางปฎิบัติ และชอบด้วยกฎหมาย ที่แม้แต่นายกรัฐมนตรีหญิงเยอรมัน อังเกลา แมร์เคิล ตัวจักรกลสำคัญในการเจรจา ยังคงเคลือบแคลงถึงจุดนี้

โดยเธอกล่าวต่อชาติผู้นำอียู รวมไปถึงนายกรัฐมนตรีตุรกี อาห์เหม็ด ดาวูโตกลู ว่า “แต่ดิฉันคิดว่า ในวันนี้เราได้ข้อตกลงที่ไม่สามารถจะเปลี่ยนทิศทางโมเมนตัมได้” และยังกล่าวต่อว่า ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่า ยุโรปยังคงมีศักยภาพที่จะเผชิญกับการตัดสินใจในปัญหาที่ท้าทายอยู่ตรงหน้า และจัดการเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อน

รอยเตอร์รายงานต่อว่า ภายใต้ข้อตกลงร่วมนี้ ตุรกีจะยอมรับผู้อพยพทั้งหมดซึ่งรวมไปถึงชาวซีเรีย ที่เดินทางเข้าสู่กรีซผิดกฎหมาย และในทางกลับกันอียูจะยอมรับผู้อพยพชาวซีเรียจำนวนไม่เกิน 72,000 คนที่อยู่ในตุรกีเข้าไปลี้ภัยในยุโรป

และในส่วนการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ตุรกีเพื่อสนับสนุนปฎิบัติการหยุดผู้อพยพเข้าสู่ยุโรป รอยเตอร์ชี้ว่า เมื่อวานนี้ (18 มี.ค) อียูตกลงที่จะเร่งกระบวนการปลดล็อกเงินช่วยเหลือตุรกีจำนวน 3 พันล้านยูโร ที่ทางสหภาพยุโรปเคยสัญญาว่าจะมอบให้ และรวมไปถึงจะมอบเงินก้อนใหม่อีก 3 พันล้านยูโร ให้ตุรกีภายในปี 2018

รอยเตอร์รายงานต่อว่า และในวันศุกร์ (18 มี.ค) สหภาพยุโรปประกาศจะช่วยกรีซตั้งหน่วยงานใหม่เพื่อรับมือการอพยพ ซึ่งหน่วยงานนี้คาดว่าจะมีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 4,000 คน รวมไปถึงผู้พิพากษา ล่ามภาษา เจ้าหน้าที่ควบคุมพรมแดน และเจ้าหน้าที่ในส่วนอื่นๆเพื่อทำหน้าที่พิจารณาการขอลี้ภัยของผู้อพยพแต่ละราย

ดังนั้น นับตั้งแต่วันอาทิตย์ (20 มี.ค) เป็นต้นไป ผู้อพยพแต่ละคนที่เดินทางมาถึงกรีซสำเร็จ จะต้องถูกส่งตัวกลับทันทีหลังจากที่ได้ลงทะเบียน และประเทศที่ต้องการขอลี้ภัยแล้ว โดยจะมีการเริ่มนำตัวผู้อพยพจากกรีซส่งกลับไปยังตุรกีตั้งแต่วันที่ 4 เมษายนนี้เป็นต้นไป และเป็นเวลาเดียวกับที่ทางอังการาจะส่งตัวผู้อพยพซีเรียมายังยุโรป

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สหภาพยุโรปจะเห็นว่าข้อตกลงนี้จะสามารถหยุดการเดินทางที่เสี่ยงอันตรายของบรรดาผู้อพยพไว้ได้ แต่ทว่าแอมเนสตีสากล หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน กลับออกมาประณามข้อตกลงร่วมอียู - อังการาครั้งนี้ ว่า “เป็นข้อตกลงที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งประวัติศาสตร์” และยังประณามเจาะจงไปที่ยุโรปว่า “อียูหันหลังให้กับผู้อพยพ” โดยให้เหตุผลว่า ตุรกีเป็นประเทศที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้อพยพ เนื่องจากมีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก

และในวันเดียวกันของการได้ข้อยุติข้อตกลงนั้น อังการาได้ส่งกำลังผสม ตำรวจ ทหารเรือ และหน่วยงานยามฝั่ง และกำลังเสริมทางอากาศคอยสนับสนุนในปฎิบัติการพิเศษ “หยุดยั้งผู้ลี้ภัยเข้าสู่เกาะเลสบอส (Lesbos)ของกรีซ” โดยปฎิบัติการพิเศษนี้เกิดขึ้นใกล้เมืองดิคิลิ (Dikili) จ.อิซเมียร์ (Izmir) ติดชายฝั่งทะเลอีเจียน

ทางเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมกลุ่มคนค้ามนุษย์ได้ 16 คน และผู้อพยพอีก 1,734 คน ซึ่งคนทั้งหมดในเวลานี้ถูกคุมขังอยู่ และทางทหารตุรกีกำลังอยู่ในระหว่างการสอบสวนเพื่อระบุชื่อและสัญชาติของคนเหล่านี้



กำลังโหลดความคิดเห็น