xs
xsm
sm
md
lg

EU เตือนอิตาลี-กรีซ ยัง “ไร้ความพร้อม” รับมือคลื่นผู้อพยพระลอกใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ /เอเจนซีส์ / MGR online - สหภาพยุโรป (อียู) เรียกร้องต่อทางการอิตาลีและกรีซในวันพุธ (10 ก.พ.) ให้เร่งยกระดับการเตรียมความพร้อมในการรับมือ “คลื่นผู้อพยพระลอกใหม่” ที่กำลังมุ่งหน้าข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมาจากภูมิภาคตะวันออกกลางและทวีปแอฟริกาในช่วงฤดูร้อนปีนี้

ในรายงานฉบับล่าสุดซึ่งมีการนำเสนอระหว่างการประชุมรายสัปดาห์ของคณะกรรมาธิการยุโรปที่เป็นหน่วยงานฝ่ายบริหารของอียูที่กรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียมระบุว่า ทั้งอิตาลี และกรีซ ซึ่งเป็นชาติสมาชิก “หน้าด่าน” ของอียูในการรับมือกับวิกฤตผู้อพยพในปี 2015 ยังคงไม่มีความพร้อมที่เพียงพอในการรองรับการไหลบ่าสู่ยุโรปของคลื่นผู้อพยพระลอกใหม่ในปี 2016 นี้ ทั้งจากภูมิภาคตะวันออกกลาง และทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา

รายงานระบุว่า อิตาลีซึ่งต้องแบกรับภาระในการดูแลคลื่นผู้อพยพระลอกเก่าที่มีจำนวนมากกว่า 160,000 รายเมื่อปีที่แล้ว และกรีซซึ่งกลายเป็นประเทศทางผ่านของเหล่าผู้อพยพมากกว่า 800,000 ราย จากตะวันออกกลางที่เดินทางผ่านตุรกีในปีที่ผ่านมา จะต้องเผชิญกับวิกฤตครั้งเลวร้ายทางด้านมนุษยธรรมหากคลื่นผู้อพยพระลอกใหม่เดินทางมาถึง เนื่องจากแผนการรับมือผู้อพยพของรัฐบาลทั้งสองประเทศยังคงล่าช้ากว่ากำหนด และขาดประสิทธิภาพ

ท่าทีล่าสุดของทางอียูมีขึ้นหลังเพิ่งเกิดเหตุสลดครั้งใหม่เมื่อผู้อพยพจำนวน 24 ราย ซึ่้งรวมถึงเด็ก 11 รายจมน้ำเสียชีวิตในทะเลอีเจียนในวันจันทร์ (8 ก.พ.) ขณะพยายามข้ามทะเลจากตุรกีไปยังกรีซ

รายงานของสื่อท้องถิ่นของตุรกีอย่างสำนักข่าวโดกันระบุว่า เหตุสลดที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 24 รายในคราวเดียวนี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่เรือของเหล่าผู้อพยพกลุ่มนี้เกิดอับปางลง ที่บริเวณนอกชายฝั่งของเขตเอเดรมิต ในจังหวัดบาลิเกซีร์ ทางตะวันตกของตุรกี ขณะพยายามมุ่งหน้าไปยังเกาะเลสบอสของกรีซ

นอกเหนือจากผู้อพยพที่จมน้ำเสียชีวิตไป 24 รายแล้ว สื่อท้องถิ่นของตุรกียังรายงานว่ามีผู้อพยพจากเรือลำเดียวกันนี้สูญหายไปในทะเลอีเจียนอีกอย่างน้อย 12 ราย ขณะที่เจ้าหน้าที่หน่วยยามฝั่งของตุรกีสามารถให้การช่วยเหลือผู้อพยพที่ยังมีชีวิตขึ้นมาจากทะเลดังกล่าวได้เพียง 2 รายเท่านั้น

ที่ผ่านมาตุรกีได้กลายเป็นประเทศหน้าด่านสำคัญที่ต้องเผชิญกับคลื่นผู้อพยพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวซีเรียที่พยายามเดินทางมุ่งหน้าสู่ยุโรป เพื่อหลบหนีภัยสงครามกลางเมืองและความขัดแย้งในประเทศบ้านเกิดที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา ขณะที่ในเวลานี้ตุรกีเองก็ต้องแบกรับภาระในการดูแลผู้อพยพกลุ่มนี้เอาไว้แล้วไม่ต่ำกว่า 2.5 ล้านคน

โศกนาฏกรรมกลางทะเลอีเจียนล่าสุดเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง หลังจากที่นายกรัฐมนตรีหญิง อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนีเดินทางเยือนกรุงอังการาเพื่อหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลตุรกีในการหาทางรับมือกับคลื่นผู้อพยพที่มุ่งหน้าสู่ยุโรปเป็นรายวัน

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว รัฐบาลตุรกีบรรลุข้อตกลงกับทางสหภาพยุโรป (อียู) ในการหาทางสกัดกั้นผู้อพยพไม่ให้เดินทางต่อไปยังยุโรปเพื่อแลกเปลี่ยนกับความช่วยเหลือทางการเงินจากอียูจำนวน 3,000 ล้านยูโร แต่ถึงกระนั้น บรรดากลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มต่างพากันลงความเห็นว่า ข้อตกลงนี้ยังคงไม่สามารถยับยั้งคลื่นผู้อพยพจากตะวันออกกลางได้อย่างเห็นผล เห็นได้จากที่ยังคงมีเหล่าผู้อพยพยอมเสี่ยงชีวิตลงเรือจากตุรกีเพื่อมุ่งหน้าสู่กรีซเป็นรายวัน

ด้านองค์การระหว่างประเทศเพื่อผู้อพยพ (ไอโอเอ็ม) เผยว่า เฉพาะเดือนมกราคมที่ผ่านมาเพียงเดือนเดียวมีผู้อพยพเสียชีวิตในทะเลอีเจียน และทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปแล้วมากกว่า 360 ราย





กำลังโหลดความคิดเห็น