เอเจนซีส์ - ที่ประชุมชาติผู้นำสมาชิกสหภาพยุโรปหาข้อสรุปตกลงร่วมกันสำเร็จในคืนดึกวันพฤหัสบดี (17 มี.ค.) มีมติให้ผลักดันผู้ลี้ภัยทั้งหมดในกรีซถูกส่งตัวกลับไปยังตุรกี แลกกับความช่วยเหลือด้านการเงินและให้สิทธิพิเศษเดินทางเข้ายุโรปเสรี
บีบีซี สื่ออังกฤษ รายงานในวันนี้ (18 มี.ค.) ว่า ซาเวียร์ เบตเทล (Xavier Bettel) นายกรัฐมนตรีลักเซมเบิร์กออกแถลงการณ์ในกลางดึกว่า มติที่ประชุมชาติผู้นำสมาชิกสหภาพยุโรปลงความเห็นในข้อตกลงร่วมวันพฤหัสบ (17 มี.ค.) ต่อวิกฤตผู้อพยพ เห็นชอบให้โดนัลด์ ทัสก์ ประธานคณะมนตรียุโรป เดินหน้าเจรจากับนายกรัฐมนตรีตุรกี อาห์เหม็ด ดาวูโตกลู ในเช้าวันศุกร์ (18 มี.ค.) ภายใต้ข้อตกลงตุรกีต้องยอมรับผู้อพยพทั้งหมดจากกรีซ
และในสิ่งที่อังการาจะได้รับ สื่ออังกฤษคาดว่าทางตุรกีจะได้รับการสนับสนุนด้านการเงิน และให้สิทธิพิเศษพลเมืองตุรกีเดินทางเข้ายุโรปเสรี และการเร่งกระบวนการเจรจาในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกอียูของอังการา
เดลีเมล สื่ออังกฤษ รายงานถึงข้อตกลงวิกฤตผู้ลี้ภัยนี้ว่า สหภาพยุโรปตกลงที่จะยอมจ่ายในการส่งตัวผู้อพยพรอบใหม่ซึ่งได้เดินทางไปถึงกรีซ แต่ไม่เข้าข่ายที่จะได้รับสิทธิลี้ภัยกลับคืนสู่ตุรกี และในทุกๆ ผู้ลี้ภัยที่อียูส่งตัวกลับไป อียูจะยอมรับผู้ลี้ภัยซีเรียในจำนวนไม่เกิน 72,000 คน
ในทางกลับกัน สหภาพยุโรปเสนอความช่วยเหลือแก่ตุรกีที่ยอมให้ผู้ลี้ภัยซีเรียร่วม 2.7 ล้านคน ในวงเงินมากถึง 4.7 พันล้านปอนด์
แต่หากนายกรัฐมนตรีตุรกีตอบปฏิเสธ ข้อเสนอร่วมนี้จะถูกนำกลับเข้าที่ประชุมอียู 28 ชาติเพื่อกำหนดท่าทีต่อไป ซึ่งผู้นำอียูตอกย้ำว่าข้อตกลงใดๆ ที่จะเกิดขึ้นต้องสอดคล้องกับกฎหมายอียู และกฎหมายระหว่างประเทศ
แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ รวมไปถึงนักการเมืองยุโรปได้ออกมาโจมตีถึงแผนการครั้งนี้ว่า เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัยเหล่านี้ที่หนีภัยสงครามและความอดอยากจากบ้านเกิด
ด้านนายกรัฐมนตรีหญิงเยอรมนี อังเกลา แมร์เคิล ได้แถลงตอกย้ำว่า ตุรกีต้องสามารถให้ความปลอดภัยแก่ผู้อพยพทุกคนตามข้อตกลงนานาชาติที่กำหนดว่าด้วยความช่วยเหลือทางด้านมนุษยชนแก่ผู้พลัดถิ่น รอยเตอร์รายงาน
นอกจากนี้ แมร์เคิลยังกล่าวต่อว่า ตามข้อตกลงร่วมอียูนี้การข้อลี้ภัยของผู้อพยพซีเรียจากตุรกีเข้าสู่ยุโรปภายใต้สัญญาที่จะมีขึ้นนี้สามารถเริ่มต้นได้อย่างเร็วที่สุดในไม่กีวันข้างหน้านี้ นับตั้งแต่กลุ่มผู้อพยพจากกรีซถูกส่งกลับไปยังตุรกีสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ผู้นำหญิงเยอรมันชี้ว่ามีความจำเป็นสำหรับอียูที่ต้องเร่งกระบวนการส่งตัวกลับสู่ตุรกีเพื่อหลีกเลี่ยงตัวแปรถ่วง และทำให้เกิดปฏิกิริยาคลื่นผู้อพยพถาโถมเข้ายุโรปครั้งใหญ่ก่อนที่ระบบใหม่จะเริ่มการบังคับใช้
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีลิทัวเนีย ดาเลีย กรีเบาสไกเต (Dalia Grybauskaite) ได้เตือนว่า แผนการส่งผู้อพยพกลับนั้นถึงแม้จะไม่ผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ก็ไม่ชอบในหลักการ และยังเกิดความยุ่งยากในการบังคับใช้
ด้านนายกรัฐมนตรีตุรกีชี้ว่าจะไม่ยอมให้ตุรกี “เป็นเสมือนคุกเปิด” สำหรับผู้ลี้ภัยเด็ดขาด