รอยเตอร์ - เมื่อวานนี้ (1 ก.ค.) รัสเซียได้แถลงปลอบประโลม 3 อดีตประเทศภายใต้สหภาพโซเวียต ลัตเวีย ลิทัวเนีย และเอสโตเนีย ไม่ต้องกังวลถึงแนวคิดการพิจารณาข้อกฎหมายการประกาศให้เอกราชของทั้งสามชาติในยุคภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียตในปี 1991 ว่าผิดกฎหมายหรือไม่
รอยเตอร์รายงานในวันพุธ (2) ว่า ทั้งสามชาติทะเลบอลติก ลัตเวีย ลิทัวเนีย และเอสโตเนีย ประกาศเอกราชขาดจากอดีตสหภาพโซเวียตในปี 1990-1991 ซึ่งมีนักเคลื่อนไหวในลิทัวเนีย และลัตเวียถูกกองกำลังโซเวียตสังหารในช่วงนั้นเพื่อกำราบกลุ่มกบฏ
เหตุการณ์นี้ถือเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญสำหรับทั้งสามชาติเป็นอย่างยิ่งนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ผนวกไครเมียของรัสเซีย ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของยูเครนอดีตประเทศภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต
ในวันอังคาร (30 มิ.ย.) สำนักอัยการสูงสุดรัสเซียได้แถลงถึงแนวคิดการรื้อฟื้นการพิจารณามติของรัฐสภาแห่งสหภาพโซเวียต (State Council of the Soviet Union) ที่ได้ประกาศให้เอกราชแก่บรรดาประเทศบอลติกแห่งนี้ ซึ่งองค์กรนี้ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 5 กันยายน 1991 ไปจนถึงวันที่ 26 ธันวาคม 1991 ถือเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดในขณะนั้นในช่วยยุคท้ายๆ ก่อนการล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียต
แต่ทว่า ทางเครมลินไม่ได้แสดงจุดยืนเห็นชอบในการแถลงของสำนักอัยการสูงสุดรัสเซีย ซึ่งรอยเตอร์รายงานว่า มีคำร้องจากสมาชิกจำนวน 2 คนของพรรค United Russia party ซึ่งจงรักภักดีกับประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ยื่นไปยังสำนักอัยการสูงสุดรัสเซียให้พิจารณา และทางหน่วยงานสำนักอัยการสูงสุดรัสเซียได้ดำเนินการพิจารณาไปตามปกติ
“ทางเรามีหน้าที่ตามกฎหมายในการพิจารณาข้อร้องเรียนทุกประเภทที่ได้ส่งเข้ามา ซึ่งแน่นอนว่ามีข้อร้องเรียนบางส่วนที่ไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง” มารินา กริดเนวา (Marina Gridneva) โฆษกสำนักอัยการสูงสุดรัสเซียให้สัมภาษณ์กับสื่อหมีขาว
และมีความชัดเจนว่า ในการรื้อฟื้นพิจารณาข้อร้องเรียนนี้จะไม่มีเงื่อนกฎหมายมาเกี่ยวข้อง กริดเนวากล่าว และเสริมว่า “เพราะในกรณีนี้เป็นที่แน่ชัดว่าจะไม่มีการพิจารณาในตามข้อกฎหมายอย่างแน่นอน”
ในขณะที่โฆษกเครมลิน ดมิตรี เพสคอฟ (Dmitry Peskov) แถลงว่า “เครมลินไม่รับทราบการยื่นขอให้สอบสวนในเรื่องนี้ และทางเราไม่อาจเข้าใจได้ถึงความจำเป็นในข้อเสนอคำร้องนี้”
ในขณะเดียวกัน ประเทศอดีตสหภาพโซเวียตที่เกี่ยวข้องต่างเดือดดาลเมื่อรับทราบ “ประเด็นที่ยกมานี้ไม่มีความเป็นไปได้แม้แต่น้อยตามข้อกฎหมาย” คีธ เพนตัส-โรซิมานนัส (Keit Pentus-Rosimannus) รัฐมนตรีต่างประเทศเอสโตเนียให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ และกล่าวต่อว่า “ช่างเป็นสิ่งที่ช่วยไม่ได้ที่ต้องถูกยกเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงอารมณ์ “แบบจักรวรรดิ” เกิดขึ้นพลุกพล่านอีกครั้งในรัสเซีย”
ด้านประธานาธิบดีลิทัวเนีย ดาเลีย กรีเบาสไกเต (Dalia Grybauskaite) แถลงว่า “เอกราชของลิธัวเนียได้มาจากการหลั่งเลือดและซากศพประชาชนลิธัวเนีย ดังนั้นจึงไม่มีใครสามารถใช้สิทธิมาขู่กรรโชกได้”
รอยเตอร์รายงานเพิ่มเติมว่า ชาติทะเลบอลติกที่ได้เคยถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียภายใต้กติกาสัญญานาซี-โซเวียตปี 1939 ในช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งความสัมพันธ์นั้นตึงเครียดกับรัสเซียมาโดยตลอด และยิ่งทวีคูณมากขึ้นเมื่อมีความไม่สงบในเขตยูเครนตะวันออก
ทั้งนี้ ลัตเวีย ลิทัวเนีย และเอสโตเนีย มีชนกลุ่มน้อยพูภาษารัสเซียอาศัยอยู่ภายในประเทศ และต่างรู้สึกกดดันเมื่อปีที่ผ่านมาซึ่งปูตินได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า รัสเซียมีสิทธิใช้กำลังทหารแทรกแซงเพื่อปกป้องกลุ่มคนที่พูดภาษารัสเซียในต่างประเทศ