xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัย SCB คาดรัฐบาลเดินหน้าสร้างรถไฟ เปิดโอกาสต่างชาติย้ายเม็ดเงินลงทุนไหลกลับเข้าไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:

ศูนย์วิจัยฯ ธนาคารไทยพาณิชย์ แนะนักลงทุนจับตามรัฐเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟความเร็วสูงสายแรก ดึงเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามาในไทย เหตุเป็นโครงการใหญ่ ใช้เงินลงทุนสุง และเป็นโครงการระยะยาว แต่หวั่นหากกระทบวินัยการคลังอาจทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP พุ่งเกิน 50% ในอีก 3 ปีข้างหน้า

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึงแนวโน้มด้านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน หลังจากวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้ข้อยุติประเด็นการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคายแล้ว โดยในหลักการไทยจะลงทุนดำเนินการเองทุกขั้นตอน โดยไม่มีการให้สัมปทาน หรือร่วมลงทุนกับจีนตามเดิม และจะเริ่มสร้างรถไฟเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เป็นอันดับแรก ต่อจากนั้นจึงจะขยายไปยังช่วงอื่นต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตาม โครงการรถไฟไทย-จีน มีโอกาสเกิดได้เร็วมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไทยมีหวังได้รับอานิสงส์เพิ่มเติมในช่วงที่ผ่านมา จากการที่ไทย และจีนได้จัดการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟมาแล้วทั้งสิ้น 9 ครั้ง แต่การหารือของทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถหาข้อยุติได้จากประเด็นด้านเงินกู้ และสัดส่วนการลงทุนระหว่างไทย-จีน ทำให้โครงการล่าช้ากว่าเป้าหมายเดิมกว่า 1 ปี ดังนั้น การที่ไทยได้ข้อยุติว่า จะดำเนินการเองทั้งหมดในทุกขั้นตอน โดยไม่มีการให้สัมปทาน หรือร่วมลงทุนกับจีนตามเดิม จึงทำให้โครงการดังกล่าวมีแนวโน้มเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2016

ทั้งนี้ แม้ว่าจีนจะยังคงเป็นผู้ดำเนินโครงการก่อสร้างหลัก แต่จากการที่ไทยเป็นผู้ลงทุนเอง ส่งผลให้ไทยมีอิสระในการกำหนดเงื่อนไขการประมูล และการก่อสร้างได้เอง ซึ่งจะสร้างผลบวกเพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกอบการไทย ทั้งในระดับต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตลอดทั้งความต้องการของนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากเป็นโครงการที่เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน อีกทั้งยังมี value chain เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะงานด้านโยธา และงานระบบไฟฟ้า ที่ไทยมีศักยภาพทัดเทียมกับผู้ประกอบการต่างชาติ อย่างไรก็ตาม งานด้านโยธา และระบบเดินรถ และขบวนรถไฟในช่วงแรก (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) มีมูลค่าถึง 74,000 ล้านบาท และ 40,000 ล้านบาท ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังไม่รวมถึงธุรกิจท้องถิ่นตามแนวรถไฟพาดผ่านที่จะได้รับอานิสงส์ตามมาอีกมากด้วย ทั้งในส่วนของการจ้างงาน การกระจายรายได้ไปยังภูมิภาค ตลอดจนถึงกลุ่มอุตสาหกรรมขนส่ง โรงแรม การท่องเที่ยว และการบริการ เป็นต้น

แต่กระนั้น อีไอซียังคงแนะนำนักลงทุนจับตาหนี้สาธารณะที่จะส่งผลต่อ GDP และแนวทางการระดมเงินทุนซึ่งอาจเป็นโอกาสสำหรับสถาบันการเงินภายในประเทศที่มีต่อโครงการรถไฟไทย-จีน ซึ่งมีมูลค่ารวมทั้งโครงการกว่า 500,000 ล้านบาท จากการที่ฝ่ายไทยจะลงทุนด้านการเงินทั้งหมด 100% อาจส่งผลกระทบต่อกรอบวินัยความยั่งยืนทางการคลัง โดยอีไอซีประเมินว่า เงินที่ไทยต้องลงทุนเพิ่มขึ้นทั้งโครงการจะเพิ่มหนี้สาธารณะต่อ GDP ประมาณ 1.5% และเมื่อผนวกกับโครงการเมกะโปรเจกต์อื่นๆ ของภาครัฐ อาจทำให้ยอดหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยมีค่าเกิน 50% ในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นระดับที่น่ากังวลอย่างมาก จึงทำให้การจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) เพื่อใช้เป็นช่องทางในการระดมทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานโดยไม่กระทบต่อหนี้สาธารณะยิ่งมีความจำเป็นมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี เนื่องจากแผนการก่อสร้างใหม่จะทยอยก่อสร้างในบางเส้นทาง ต่างจากการก่อสร้างทุกเส้นทางในเวลาไล่เลี่ยกันเหมือนแผนการก่อนหน้า ทำให้ภาครัฐยังคงมีเวลาในการแสวงหาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เพิ่มเติม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านเงินทุนของประเทศโดยที่ไม่กระทบวินัยทางการเงินการคลังทั้งทางตรง และทางอ้อม
กำลังโหลดความคิดเห็น