xs
xsm
sm
md
lg

เผยไทยติด 1 ใน 5 ตลาดน่าลงทุนในสายตาอาเซียน แนะแก้จุดอ่อนหลายด้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


PwC เผยความเชื่อมั่นซีอีโออาเซียนต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ และรายได้ปีนี้ทรุดจากปีก่อน ขณะที่มองไทยติด 1 ใน 5 ตลาดน่าลงทุนในสายตาอาเซียน แนะเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และการศึกษา

นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน PwC ประเทศไทย (ไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) เปิดเผยถึงผลสำรวจ Global CEO Survey ครั้งที่ 19 ที่ใช้ในการประชุม World Economic Forum (WEF) กรุงดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2559 ซึ่งสำรวจความคิดเห็นซีอีโอทั่วโลก 1,409 ราย ใน 83 ประเทศ ในจำนวนนี้เป็นซีอีโอจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 61 ราย ใน 7 ประเทศว่า แม้ภาพรวมความเชื่อมั่นปีนี้จะดูแย่ แต่ผู้บริหารในภูมิภาคยังคงมีแผนลงทุนตามปกติ โดยผลสำรวจพบว่า 5 อันดับตลาดน่าลงทุนปีนี้ อันดับที่ 1 ได้แก่ จีน ซึ่งแม้ปีนี้เศรษฐกิจจะมีแนวโน้มไม่สดใส แต่จีนถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของอาเซียน อันดับที่ 2 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา โดยดูจากกำลังซื้อ และตัวเลขจ้างงานที่ฟื้นตัวในช่วงที่ผ่านมา

ส่วนอินโดนีเซีย และเวียดนามติดอันดับที่ 3 อย่างไม่น่าแปลกใจ เพราะทั้งมูลค่าการลงทุน และอัตราการขยายตัวของภาคธุรกิจของ 2 ประเทศ ประกอบกับอัตราค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ และทรัพยากรธรรมชาติที่ยังมีอยู่มาก ทำให้โอกาสในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศยังคงมีสูง ตามด้วยอันดับที่ 4 ได้แก่ อินเดีย ภายใต้การบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี

สำหรับประเทศไทย ยังติด 1 ใน 5 ตลาดที่น่าลงทุนในสายตาซีอีโออาเซียนปีนี้ โดยมีจุดแข็งสำคัญด้านแรงงานที่มีทักษะฝีมือเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน และการใช้จ่ายของภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ ผนวกกับไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียน ทำให้มีข้อได้เปรียบหลายด้าน โดยเฉพาะการคมนาคม การติดต่อสื่อสาร และการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่ควรชะล่าใจโดยยังมีจุดอ่อนบางเรื่องที่ต้องปรับปรุง เช่น ภาคการผลิตในบางจุดยังมีประสิทธิภาพต่ำ ค่าแรงที่ปรับสูงขึ้น การปรับปรุงคุณภาพการศึกษา การกระจุกตัวของพื้นที่อุตสาหกรรมที่อาจทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ภาระหนี้สินของคนในชนบท และผู้มีรายได้น้อย และการอพยพของแรงงาน เป็นต้น

“ประเทศไทยยังน่าลงทุนในสายตาเพื่อนบ้านจากจุดแข็งหลายประการ แต่สิ่งที่ละเลยไม่ได้ คือ ต้องแก้ไขจุดอ่อนหลายๆ ด้านอย่างเร่งด่วน เพื่อไล่ตามอินโดนีเซีย และเวียดนามให้ทัน”

ส่วนความเชื่อมั่นของซีอีโออาเซียนต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการเพิ่มขึ้นของรายได้บริษัทปีนี้ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน โดยผู้นำธุรกิจอาเซียนเพียงร้อยละ 39 เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้นปีนี้ ปรับตัวลดลงจากปีที่ผ่านมาที่ร้อยละ 49 ถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี นับจากปี 2556 โดย 3 ปัจจัยหลักที่ซีอีโออาเซียนมองว่าเป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจ และนโยบาย ได้แก่ ความผัวผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ความไม่มั่นคงทางสังคม และความไม่สงบทางการเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น