วันที่ 23 มิถุนายนนี้ จะเป็นวันสำคัญของสหราชอาณาจักรที่จะเปิดให้ประชาชนโหวตว่าจะเลือก Yes หรือ No ว่าจะอยู่ต่อในสหภาพยุโรปหรือไม่ แต่ประเด็นทางเศรษฐกิจที่กำลังถูกจับตาอย่างมากคือ ทิศทางของ “เงินปอนด์” เพราะล่าสุด การที่นายกเทศมนตรีนครลอนดอนอย่าง Boris Johnson ซึ่งเป็นนักการเมืองที่มีคะแนนนิยมสูงออกมาสนับสนุนให้สหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป ทำให้เงินปอนด์อ่อนค่าลงทันที 1%
แนวคิดของ Boris Johnson ต่างจากนายกรัฐมนตรี David Cameron ที่สนับสนุนให้ยังคงอยู่กับสหภาพยุโรปต่อไป (ที่งงๆ คือ สองคนนี้อยู่พรรคเดียวกัน แต่นายกเทศมนตรีลอนดอน มีแนวคิดอนุรักษนิยมสุดๆ คือ มองว่าอังกฤษยังเป็นเจ้าโลกอยู่) ซึ่งมีคนสนับสนุนเขาอยู่พอสมควร
โกลด์แมนแซค ออกบทวิเคราะห์ว่า ถ้าหากสหราชอาณาจักรถูกโหวตให้แยกตัวออกจากอียู จะทำให้เงินปอนด์เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ “อ่อนค่า” ลง อาจจะลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1985 ก็เป็นได้ ส่วนธนาคารเอชเอสบีซี ออกบทวิเคราะห์ว่า หากสหราชอาณาจักรยังคงอยู่กับอียู เงินปอนด์จะกลับมา “แข็งค่า”
ท่าทีของอียู ค่อนข้างไปทางอวยสหราชอาณาจักรไม่น้อย เพราะได้มอบสิทธิพิเศษให้แก่เงินปอนด์มีบทบาทในตลาดการเงินของอียู ชนิดที่เรียกได้ว่าเทียบเท่ากับเงินยูโรด้วยซ้ำ (อังกฤษอยู่ในสหภาพยุโรปแต่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มยูโรโซนที่ใช้เงินสกุลยูโร) เพราะการที่สหราชอาณาจักรออกไปจากอียู จะทำให้เสถียรภาพของยุโรปลดลงอย่างฮวบฮาบ เพราะทั้งอังกฤษ และสกอตแลนด์ต่างมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็งด้วยกันทั้งคู่ ตลาดหุ้นอังกฤษมีขนาดใหญ่ที่สุดของยุโรป หากสหราชอาณาจักรต้องออกจากอียู จะทำให้เยอรมนีต้องแบกรับภาระทางเศรษฐกิจ (และอาจรวมถึงทางสังคมด้วย เช่น เรื่องของผู้อพยพ) แต่เพียงรายเดียว
เงินปอนด์ของอังกฤษ ยังได้รับการยอมรับว่าเข้มแข็งอันดับต้นๆ ของโลก เคยมีประวัติถูก “จอร์จ โซรอส” ทุบจนร่วงเพียงครั้งเดียวเท่านั้น การที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงหลังมีข่าวอาจจะแยกตัวจากอียู ตลาดกำลังบ่งบอกว่า การตัดสินใจดังกล่าวจะส่งผลลบต่อสหราชอาณาจักรเองด้วย
นอกจากนี้ อังกฤษเองก็กำลังเผชิญต่อการตัดสินใจครั้งสำคัญของสกอตแลนด์ ที่มีความคิดที่จะแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรด้วยเช่นกัน แม้ว่าการโหวตครั้งล่าสุดผลคือ ยังอยู่ต่อ แต่คะแนนเสียงก็ใกล้เคียงกันมาก คือ 55:45 ทำให้ยังมีโอกาสที่คนสกอตแลนด์จะหันมามีความคิดแยกตัวอีกครั้ง ซึ่งก่อนการโหวตในครั้งนั้นตลาดการเงินของอังกฤษก็ผันผวนสูง เพราะสกอตแลนด์ก็มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจอังกฤษพอสมควร (จริงๆ แล้วธนาคารใหญ่ๆ ก็เป็นของคนสกอตแลนด์เสียเยอะ)
ไม่เพียงแค่ที่สหราชอาณาจักร แต่ที่สเปนก็มีกรณีที่คล้ายๆ กันคือ แคว้นคาตาลุนญ่า ซึ่งมีบาร์เซโลนาเป็นเมืองหลวงก็ต้องการแยกตัวออกจากสเปนเช่นกัน (ใครที่เป็นคอบอลจะรู้ว่าแคว้นนี้เขาไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนสเปนด้วยซ้ำ) เพราะเศรษฐกิจของแคว้นคาตาลุนญ่าดีกว่าสเปนมาก ที่ผ่านมา เหมือนเป็นคนอุ้มเศรษฐกิจของประเทศเสียด้วยซ้ำ
ความเห็นส่วนตัว คิดว่าคนสหราชอาณาจักรอาจไม่กล้าที่จะโหวตตัวเองออกจากสหภาพยุโรป เพราะในสภาวะที่เศรษฐกิจการเงินโลกยังไม่ฟื้นตัว การอยู่รวมตัวกันไปก่อนน่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า แต่บางครั้งเหตุผลทางการเมืองก็อาจอยู่เหนือเหตุผลทางเศรษฐกิจก็ได้
ส่วนเทรดเดอร์ที่สนใจเทรดเงินปอนด์ ลองติดตามดูดีๆ นะครับอาจจะเกิดเทรนด์ให้สามารถเทรดได้ในช่วงหลังจากนี้ก่อนวันโหวต แต่รับรองว่าผันผวนสูงแน่นอน
นเรศ เหล่าพรรณราย
ติดตามรายละเอียดของโครงการได้ที่ www.supertrader.co.th
SuperTrader รายการเรียลิตีการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศ เข้มข้นด้วยความรู้จากโค้ชผู้มากประสบการณ์ ผ่านบททดสอบจากตลาดหุ้นจริง