xs
xsm
sm
md
lg

บรรดานายใหญ่ของธุรกิจผู้ดีชี้ออกจากอียูส่งผลเสียต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจอังกฤษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - บรรดาเจ้านายของบริษัทใหญ่ๆ ในอังกฤษระบุว่า การออกจากสหภาพยุโรปจะทำให้เศรษฐกิจเมืองผู้ดีตกอยู่ในความเสี่ยง ซึ่งเหล่านายใหญ่ของธุรกิจมากกว่า 1 ใน 3 ได้หนุนหลังนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ที่เรียกร้องให้โหวตเสียงอยู่ต่อในการทำประชามติเดือนมิถุนายนนี้

ก่อนหน้านี้เงินปอนด์ได้อ่อนค่าลงอย่างรุนแรงเมื่อวันจันทร์ จากความกังวลที่ว่าชาวอังกฤษอาจโหวตให้ประเทศออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป เดือดร้อนบรรดาผู้นำของธุรกิจต่างๆ ต้องรวมพลังกันออกมาแย้งให้เห็นถึงผลดีทางเศรษฐกิจจากการเป็นสมาชิกอียู

ด้วยการดำเนินงานโดยกลุ่ม “บริเตน สตรองเกอร์ อิน ยุโรป” ซึ่งมีการรณรงค์หนุนหลังคาเมรอน หนังสือที่แย้งให้เห็นถึงผลดีของการเป็นสมาชิกอียูได้ถูกลงนามโดยเหล่าเจ้านายจากบริษัทเกือบ 200 แห่ง เช่น ธุรกิจสื่อสาร บีที กรุ๊ป, ธุรกิจค้าปลีก มาร์ค แอนด์ สเปนเซอร์, ธุรกิจน้ำมัน บีพี ฯลฯ

การดำเนินการครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความคล้ายคลึงกับเมื่อครั้งที่มีการทำประชามติแยกตัวเป็นเอกราชของสกอตแลนด์เมื่อปี 2014 แต่ก็ต้องใช้ความระมัดระวังด้วยเช่นกัน เมื่อผู้มีสิทธิออกเสียงโหวตบางรายบอกว่าจะบอยคอตบริษัทที่เข้ามาวุ่นวายกับเรื่องการเมือง ขณะที่นายจ้างของบริษัทยักษ์ใหญ่บางรายก็งดเว้นการลงชื่อในหนังสือฉบับดังกล่าว นอกจากนี้ผู้บริหารบางคนก็บอกว่าลงนามเป็นการส่วนตัว เพื่อแสดงออกอย่างชัดเจนว่าบริษัทของพวกเขานั้นวางตัวเป็นกลางต่อเรื่องนี้

“บรรดาธุรกิจต่างๆ ล้วนจำเป็นจะต้องเข้าถึงตลาดยุโรปที่มีคน 500 ล้านได้แบบไม่มีข้อจำกัด เพื่อความต่อเนื่องทั้งในด้านการเติบโต การลงทุน และการสร้างงาน” หนังสือฉบับดังกล่าวระบุ

“เราเชื่อว่าการออกจากอียูจะยับยั้งการลงทุน เป็นภัยคุกคามต่อการงาน รวมถึงทำให้เศรษฐกิจตกอยู่ในความเสี่ยง อังกฤษจะเข้มแข็งขึ้น ปลอดภัยและดีขึ้น หากยังคงเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป” ข้อความในหนังสือระบุ

หนังสือฉบับนี้ช่วยหนุนหลังนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ที่ต้องผ่านคืนวันอันหนักหน่วง นับตั้งแต่เขาทำข้อตกลงกับบรรดาผู้นำอียูเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเกี่ยวกับเงื่อนไขใหม่ๆ ของอังกฤษที่จะจูงใจให้ยังอยู่ในอียูต่อไป

ผู้นำรัฐบาลอังกฤษรายนี้โดนเล่นงานเข้าอย่างจังในวันอาทิตย์ เมื่อนายกเทศมนตรีลอนดอน “บอริส จอห์นสัน” ออกมาบอกว่าจะรณรงค์ให้อังกฤษออกจากอียู จากนั้นในวันจันทร์คาเมรอนยังต้องออกมาแก้ต่างที่รัฐสภา เรื่องข้อตกลงของเขาที่ทำกับอียู โดยที่เสียงวิจารณ์ส่วนใหญ่มาจากคนในพรรคเดียวกันที่กำลังมีความเห็นแตกแยก

การทำประชามติในวันที่ 23 มิถุนายนถือเป็นการเดิมพันที่สูงมาก การโหวตถอนตัวไม่เพียงแต่จะเปลี่ยนแปลงอนาคตของอังกฤษต่อกิจการโลก แต่ยังเป็นการเขย่าสหภาพยุโรปไปด้วย ซึ่งตอนนี้อียูกำลังดิ้นรนอย่างหนักเพื่อจะรักษาความเป็นเอกภาพเอาไว้ให้ได้ ด้วยการรั้งชาติที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของกลุ่ม รวมถึงเป็นกำลังทหารหลักอย่างอังกฤษ หลังเจอปัญหาเรื่องผู้อพยพและวิกฤตการเงิน

บรรดาเจ้านายของบางบริษัท โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ต้องเผชิญหน้ากับผู้บริโภค ตัดสินใจเลือกที่จะไม่ลงนามในหนังสือฉบับนี้

เทสโก้ ธุรกิจเอกชนที่มีการจ้างงานมากที่สุดในอังกฤษ ด้วยพนักงานราว 310,000 คน ได้ระบุว่า การทำประชามติในวันที่ 23 มิถุนายนเป็นการตัดสินใจของประชาชนชาวอังกฤษ ทางบริษัทยังคงมุ่งเน้นไปที่การให้บริการลูกค้าเป็นหลัก

เซนต์บิวรี ธุรกิจซูเปอร์มาร์เกตยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของอังกฤษ ระบุว่า ตนเป็นองค์กรที่ไม่สนใจในเรื่องการเมือง จึงให้ประชาชนชาวอังกฤษเป็นคนตัดสินใจในเรื่องนี้

การเคลื่อนไหวเรียกร้องที่เป็นเสียงจากธุรกิจใหญ่ๆ ใช่ว่าจะไร้ความเสี่ยง เพราะทางกลุ่ม “เอาต์” ที่รณรงค์ให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป ระบุว่าอียูเป็นเพียงเครื่องมือของพวกชนชั้นนำ ซึ่งชาวอังกฤษทั่วไปไม่มีทางเอื้อมถึง

จิม เมลลอน ผู้จัดการกองทุน ที่คอยให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนในการรณรงค์ของกลุ่ม “เอาต์” ได้บอกกับบีบีซีว่า บรรดาผู้ที่ลงนามในหนังสือดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นพวกที่ไต่เต้าขึ้นมาเป็นผู้นำของบริษัท ไม่ใช่ผู้ประกอบการตัวจริงที่เริ่มต้นธุรกิจใหม่ของตัวเอง

“การปฏิเสธคำเตือนของผู้ที่บอกให้โหวตถอนตัว ถือว่าเป็นการกระทำแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้” จิมระบุ พร้อมคาดหมายว่า วันคืนที่มืดหม่นกำลังรอคอยยุโรปอยู่ข้างหน้า เขายังทำนายด้วยว่าสหภาพยุโรปจะต้องพังในอีกไม่นาน จากข้อจำกัดต่างๆ ของยูโรโซน


กำลังโหลดความคิดเห็น