xs
xsm
sm
md
lg

สะเทือนข้อตกลง “คาเมรอน-อียู” พ่อเมืองลอนดอนหนุนผู้ดีถอนตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - บอริส จอห์นสัน นายกเทศมนตรีลอนดอน ประกาศหนุนฝ่ายเรียกร้องให้อังกฤษถอนตัวจากอียู ชี้นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ล้มเหลวในการผลักดันการปฏิรูปพื้นฐานระหว่างทำข้อตกลงกับบรัสเซลส์เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว นักวิเคราะห์ระบุการที่หนึ่งในนักการเมืองคนดังลุกขึ้นมาชนกับนายกรัฐมนตรีจากพรรคเดียวกัน อาจทำให้มีแนวโน้มมากขึ้นที่ชาวเมืองผู้ดีจะโหวตคัดค้านการอยู่กับสหภาพยุโรปต่อในการลงประชามติปลายเดือนมิถุนายนนี้

จอห์นสัน นักการเมืองที่มีสีสันที่หลายคนคิดว่าใช้บุคลิกตลกโปกฮาและพฤติกรรมที่คนนอกมองว่าแปลกประหลาดเพื่อกลบเกลื่อนความทะเยอทะยานในการสืบทอดเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ออกตัวว่ารักวัฒนธรรม ความศิวิไลซ์ และอาหารยุโรป แต่เขาคิดว่าโครงการของยุโรปเสี่ยงที่จะอยู่นอกเหนือการควบคุมในระบอบประชาธิปไตย

“สิ่งสุดท้ายที่ผมต้องการทำคือคัดค้าน เดวิด คาเมรอน หรือรัฐบาล แต่แม้จะปวดใจแสนสาหัส ผมก็ไม่คิดว่ามีทางเลือกอื่นนอกจากโหวตให้อังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรป (อียู)” จอห์นสันให้สัมภาษณ์นักข่าวหน้าบ้านพักเมื่อวันอาทิตย์ (21) หลังจากคาเมรอนประกาศการตัดสินใจหนุนให้อยู่ในอียูต่อได้เพียง 20 นาที

จอห์นสันที่รับตำแหน่งนายกเทศมนตรีลอนดอนมาตั้งแต่ปี 2008 และเป็นสมาชิกพรรคอนุรักษนิยมของคาเมรอน สำทับว่า ต้องการให้อังกฤษได้ข้อตกลงที่ดีกว่า เพื่อประหยัดเงินและดึงอำนาจการควบคุมกลับคืนมา

ทั้งนี้ ค่าเงินปอนด์ในตลาดเอเชียอ่อนลง 1% เมื่อเทียบดอลลาร์ ยูโร และเยน เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าอังกฤษอาจถอนตัวจากอียู

จอห์นสัน วัย 51 ปี ยืนยันว่า จะไม่ร่วมโต้วาทีคัดค้านสมาชิกพรรคเดียวกัน กระนั้น การตัดสินใจของเขาเท่ากับเป็นการสนับสนุนการรณรงค์ให้ลอนดอนถอนตัวจากอียู อีกทั้งยังทำให้ราคาต่อรองว่าอังกฤษจะถอนตัวเพิ่มเป็น 33% จากประมาณ 29% ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของบริษัทรับพนันเมืองผู้ดี

เมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ทำแบบนี้เป็นการปูทางเพื่อลงสนามแย่งชิงตำแหน่งของคาเมรอนหรือไม่ จอห์นสันยิ้มพรายและตอบเพียงว่า คาเมรอนควรอยู่ต่อไม่ว่าผลการลงประชามติในวันที่ 23 มิถุนายนจะเป็นอย่างไร

ถึงกระนั้นก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การที่จอห์นสันท้าทายคาเมรอนหลังจากผู้นำอังกฤษทำข้อตกลงเพื่อรับสถานะพิเศษกับอียูไม่ทันถึง 48 ชั่วโมง ทำให้ความแตกแยกในพรรคอนุรักษนิยมเกี่ยวกับจุดยืนต่อยุโรปที่มีมายาวนานกว่าสามทศวรรษชัดเจนยิ่งขึ้น

วันที่ 23 มิถุนายนนี้ ชาวเมืองผู้ดีจะต้องตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดอย่างน้อยใน 1 ชั่วอายุคนว่า สหราชอาณาจักรควรเป็นสมาชิกอียูต่อหรือควรถอนตัว

หากคำตอบเป็นอย่างหลังจะเกิดการสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงต่ออียู ซึ่งมีปัญหาความแตกแยกในประเด็นผู้อพยพและอนาคตของยูโรโซนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เนื่องจากอังกฤษถือเป็นชาติสมาชิกที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 2 และหนึ่งในชาติมหาอำนาจทางทหาร อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการเงินที่มั่งคั่งที่สุด

ผู้สนับสนุนยุโรป เช่น อดีตนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์, จอห์น เมเจอร์ ต่างพากันเตือนว่า การถอนตัวอาจทำให้สหราชอาณาจักรแตก เนื่องจากจะเป็นการกระตุ้นให้สกอตแลนด์ลุกขึ้นมาทำประชามติเพื่อประกาศเอกราชอีกครั้ง

ผลสำรวจหลังจอห์นสันประกาศจุดยืนคัดค้านคาเมรอนระบุว่า ผู้สนับสนุนให้อังกฤษ “อยู่ต่อ” มีคะแนนนำ 15% แต่ผู้มีสิทธิออกเสียง 1 ใน 5 ยังไม่ได้ตัดสินใจ

ทั้งนี้ ฝ่ายสนับสนุนการเป็นสมาชิกอียูต่อประกอบด้วยศูนย์กลางการเงินและธุรกิจลอนดอน บริษัทชั้นนำ สมาชิกจำนวนมากของพรรคแรงงาน สหภาพแรงงานสำคัญ พันธมิตรระหว่างประเทศ และนักชาตินิยมสกอตแลนด์ ขณะที่ฝ่ายคัดค้านคือกลุ่มต่างๆ ที่ต้องการให้อังกฤษถอนตัว

สมาชิกอาวุโสในคณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่สนับสนุนคาเมรอน กระนั้น พันธมิตรใกล้ชิดคนหนึ่งคือ ไมเคิล โกฟ รัฐมนตรียุติธรรม ลุกขึ้นมาก่อกบฏร่วมกับสมาชิกคณะรัฐมนตรีอีก 5 คน

ฮิวโก ดิกสัน คอลัมนิสต์ของรอยเตอร์และผู้เขียนหนังสือ “เดอะ อิน/เอาต์ เควสชัน” ว่าด้วยการสนับสนุนให้อังกฤษคงอยู่ในอียู มองว่า การตัดสินใจของจอห์นสันทำให้โอกาสที่อังกฤษจะถอนตัวมีมากขึ้น

อนึ่ง ผลสำรวจของอิปซอส มอริระบุว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1 ใน 3 ยอมรับว่า การประกาศของจอห์นสันช่วยให้พวกเขาตัดสินใจง่ายขึ้น

คาเมรอนนั้นประกาศว่าจะลงจากตำแหน่งก่อนปี 2020 ซึ่งหากอังกฤษยังอยู่กับอียู โอกาสที่จอห์นสันจะได้เก้าอี้นายกรัฐมนตรีอาจดับวูบจากการประกาศคัดค้านเรื่องนี้อย่างเปิดเผย ทว่าในทางกลับกัน หากชาวเมืองผู้ดีลงมติให้ถอนตัว จอห์นสันอาจเป็นเต็งหนึ่งในการสืบทอดตำแหน่งจากคาเมรอน


กำลังโหลดความคิดเห็น