“พลัส พร็อพเพอร์ตี้” เผยผลสำรวจตึกสูงในเขต กทม. พบมากกว่า 3,000 อาคาร สูงเกิน 7 ชั้น และส่วนใหญ่อายุเฉลี่ยประมาณ 20 ปี ผู้ดูแลอาคารควรวางแผนบริหารดูแลอย่างเป็นระบบเพื่อลดความเสี่ยงเหตุอัคคีภัย พร้อมแนะนำผู้ดูแลอาคารปฏิบัติตามกฎหมายเคร่งครัด เพื่อเพิ่มความปลอดภัย และความมั่นใจให้แก่ผู้อยู่อาศัยในอาคาร ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า สถิติปี 2531-2552 ประเทศไทยได้รับความเสียหายจากอัคคีภัยกว่า 28,000 ล้านบาท
นายชาญ ศิริรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานบริหารทรัพยากรอาคาร บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (Mr.Chan Sirirat, Assistant Managing Director, Plus Property Company Limited) ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารและจัดการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เปิดเผยว่า ปัจจุบันอยู่ในช่วงที่กำลังจะเข้าสู่ฤดูร้อนซึ่งเป็นช่วงที่มักเกิดอัคคีภัยขึ้นได้ง่าย เพราะสภาพอากาศมีความร้อนสูงขึ้น และมีการใช้พลังงานไฟฟ้าสูง อัคคีภัยถือเป็นวิกฤตการณ์ที่ส่งผลเสียหายค่อนข้างมากโดยเฉพาะเมื่อเกิดขึ้นต่ออาคารสูง
ไม่เพียงก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม แต่หากเพลิงไหม้ลุกลาม แพร่กระจายไปยังอาคารข้างเคียงก็จะมีความเสียหายเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การมีระบบป้องกันอัคคีภัย และการดูแลรักษาที่ถูกต้องเป็นประจำจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยควบคุม และระงับเหตุเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อลด และบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
พลัสฯ ได้ทำการสำรวจพบว่า ในเขตกรุงเทพมหานคร มีอาคารสูงเกิน 7 ชั้น จำนวนมากกว่า 3,000 อาคาร โดยในจำนวนนี้มีอาคารใหม่อายุต่ำกว่า 10 ปี คิดเป็น 33.33% ในขณะที่อาคารส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานคร มีอายุราว 20 ปี ซึ่งหากอาคารใดสร้างก่อนกฎหมายควบคุมอาคารสูง 2535 ก็จะมีอุปกรณ์ระบบป้องกัน และระงับอัคคีภัยน้อยกว่าอาคารที่ก่อสร้างหลังกฎหมายควบคุมอาคารปี 2535
ดังนั้น อาคารเหล่านี้ต้องได้รับการดูแลบริหารจัดการอาคารอย่างถูกต้อง และเหมาะสมเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่างๆ รวมถึงการปรับปรุงเพิ่มเติมระบบป้องกันการเกิดเหตุอัคคีภัย เป็นต้น
สำหรับการเกิดอัคคีภัยนั้นโดยมากเกิดจากการขาดความระมัดระวัง และคิดว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับเรา มีสาเหตุหลักๆ เช่น การจุดธูปเทียนในอาคาร การใช้แก๊สขณะปรุงอาหาร และไฟฟ้าลัดวงจร ส่วนการลอบวางเพลิงพบได้ไม่บ่อยนัก และจากข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า สถิติปี 2531-2552 ประเทศไทยเกิดอัคคีภัยราว 47,000 ครั้ง ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 3,700 คน เสียชีวิตกว่า 1,600 คน รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 28,000 ล้านบาท
อาคารขนาดใหญ่ในปัจจุบันมีกฎหมายบังคับให้ออกแบบ และวางระบบป้องกันแจ้งเตือนดับเพลิงได้ดีในระดับหนึ่ง แต่เหตุที่บางอาคารเกิดเหตุ และไม่สามารถควบคุมเพลิงได้ทัน เนื่องจากไม่มีการตรวจสอบ หรือดูแลระบบแจ้งเตือนเหตุเพลิงไหม้ (Fire Alarm) และระบบระงับเหตุเพลิงไหม้ (Sprinkler) อย่างสม่ำเสมอ ทำให้เกิดความบกพร่อง ไม่ว่าจะเป็นระบบการแจ้งเตือนเหตุ ระบบสัญญาณเตือนภัย และท่อน้ำดับเพลิง เป็นต้น ผู้ดูแลระบบเป็นอีกส่วนที่สำคัญที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบ และดูแลบำรุงรักษาให้ระบบมีความพร้อมต่อการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการมีแผนการอพยพหนีไฟ และการฝึกซ้อมเป็นประจำ
นอกจากนี้ การส่งต่อข้อมูลอาคารเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการใช้งานอาคาร เช่น การกั้นผนังอาคาร แต่จะต้องแจ้งข้อมูลแก่ผู้ออกแบบอาคาร เพื่อให้ระบบป้องกันอัคคีภัยที่ออกแบบไว้สำหรับรูปแบบอาคารเดิมได้รับการเปลี่ยนแปลง และสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพดังเดิม เช่น หัวจ่ายน้ำสปริงเกอร์ที่ถูกติดตั้งไว้ในตำแหน่งเดิม แต่เมื่อมีการกั้นผนังอาคารเพิ่ม แต่ไม่มีการปรับปรุงหัวจ่ายน้ำสปริงเกอร์ให้สอดคล้องต่อสภาพภายในที่เปลี่ยนไป เมื่อเกิดเพลิงไหม้ก็จะทำให้ระบบป้องกันอัคคีภัยทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ
“พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2543 กำหนดให้อาคารชุดพักอาศัย หรืออาคารที่อยู่อาศัยรวมที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตร.ม.ขึ้นไป จะต้องมีการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง อุปกรณ์ และระบบบริหารจัดการความปลอดภัยของอาคารเป็นปกติปีละ 1 ครั้ง และตรวจสอบใหญ่ทุก 5 ปี โดยต้องได้รับการตรวจสอบจากผู้ตรวจสอบที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น อย่างไรก็ดี ปัจจุบันข้อกำหนดนี้ได้รับการยกเว้นการตรวจสอบสำหรับอาคารชุดพักอาศัยที่มีพื้นที่ไม่เกิน 5,000 ตร.ม. เป็นเวลา 7 ปี และอาคารชุดพักอาศัยที่มีพื้นที่เกิน 5,000 ตร.ม. เป็นเวลา 5 ปี นับตั้งแต่กฎกระทรวงเริ่มบังคับใช้ในปี 2548 ซึ่งหากผู้ดูแลอาคารปฏิบัติตามกฎหมาย ก็จะส่งผลให้ผู้พักอาศัยจะมีความมั่นใจในการพักอาศัยมากขึ้น” นายชาญ กล่าว