ในที่สุด เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ก็เป็นผู้ปิดดีลซื้อหุ้นของห้างไฮเปอร์มาร์เกตอันดับ 2 ของประเทศอย่างบิ๊กซีได้สำเร็จ โดยใช้เงินไปกว่า 1.22 แสนล้านบาท ผลจากดีลดังกล่าวทำให้กลุ่มของนายเจริญ เป็นหนึ่งในผู้เล่นรายสำคัญในสนามค้าปลีกไทย เทียบเคียงกับเครือซีพีเจ้าของร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น และห้างค้าส่งอย่างแม็คโคร รวมถึงกลุ่มเซ็นทรัล เจ้าของห้างสรรพสินค้าชั้นนำ
การซื้อหุ้นค้าปลีกของกลุ่มนายเจริญครั้งนี้ถือได้ว่าท้าทายพอสมควร เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง คาดการณ์ว่ายอดขายจากค้าปลีกในปีนี้อาจจะโตติดลบในรอบ 20 ปีด้วยซ้ำ ประกอบกับแนวโน้มของธุรกิจค้าปลีกทั่วโลกอยู่ในช่วงขาลงต่อเนื่อง เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้กลุ่มคาสิโนของฝรั่งเศสต้องขายกิจการในเอเชีย เช่นเดียวกับห้างเทสโก้ ของอังกฤษ และวอลมาร์ท ของสหรัฐฯ ที่ผลประกอบการตกลงอย่างหนักจากกระแสของอีคอมเมิร์ซที่เติบโตแทน
เห็นได้จากหุ้นของอาลีบาบา, อะเมซอนดอทคอม ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกออนไลน์ของจีน และสหรัฐฯที่เติบโตต่อเนื่อง ขณะที่หุ้นค้าปลีกของไทยอย่าง BIGC เอง (หากไม่มีการเก็งเรื่องขายหุ้นก็คงไม่ถูกเก็งกำไรขึ้นมา) รวมถึง CPN, CPALL เองก็แทบไม่มีการเติบโต ราคาหุ้นเคลื่อนไหวเป็นไซด์เวย์มานาน
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา (หลังปี 2009) หุ้นค้าปลีกถือเป็นดาวเด่นในตลาดหุ้นไทยพอๆ กับกลุ่มสื่อสาร มูลค่าตลาดเติบโตขึ้นมาติดอันดับ 4 ของตลาดหุ้นไทย หลังจากที่หุ้นค้าปลีกอยู่ในสถานะหุ้นปลอดภัย (Defensive Stock) มาตลอดก็เปลี่ยนเป็นหุ้นเติบโต (Growth Stock) ทำให้เกิดกระแสการซื้อกิจการค้าปลีกอย่างต่อเนื่อง เช่น CPALL ซื้อกิจการ MAKRO, BJC ที่ซื้อกิจการค้าปลีกต่างประเทศ รวมถึง SCC เองก็ยังซื้อหุ้นบางส่วนของ GLOBAL
แม้ว่าแนวโน้มของหุ้นกลุ่มค้าปลีกของโลกจะเป็นขาลงจากการถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี แต่ในเอเชีย ยังคงเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจด้วยการขยายตัวของประชากร รวมถึงเทคโนโลยีที่ยังเข้าไปได้ไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะตลาดประเทศที่กำลังพัฒนา อย่างกลุ่ม CLMV ที่น่าจะเป็นที่หมายป้องของกลุ่มทุนต่างชาติ
แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือ หุ้นค้าปลีกจะไม่อยู่ในสถานะของหุ้นปลอดภัยอีกต่อไป แม้แต่ วอเรน บัฟเฟตต์ ยังอ่านเกมขาลงของธุรกิจค้าปลีกนี้ไม่ขาด ทำให้ต้องขาดทุนจากการลงทุนหุ้นเทสโก้อย่างมหาศาล
โมเดลธุรกิจของค้าปลีก หากวิเคราะห์ให้ดีจะเห็นว่ามี “ช่องโหว่” ให้เทคโนโลยี และนวัตรกรรมเข้าไปเจาะได้อย่างมาก เพราะดำเนินธุรกิจอย่างเรียบง่าย เพียงแค่ซื้อมาขายไป เห็นได้ว่าสินค้าที่วางขายในแต่ละห้างแทบไม่มีความแตกต่างกัน หลายปีก่อนอาจจะเห็นกลยุทธ์ที่เน้นสินค้าที่ผลิตเอง หรือเฮาส์แบรนด์ แต่ก็ไม่ตอบโจทย์ในแง่โมเดลธุรกิจนักเพราะท้ายสุดแล้วก็ยังแข่งกันที่ราคาเช่นเดิม การวิเคราะห์ธุรกิจค้าปลีกจึงมีเพียงแค่แผนการขยายสาขา กับแนวโน้มเศรษฐกิจเท่านั้น
หุ้นค้าปลีกในประเทศไทยจึงน่าจะกลับเข้าสู่ความเป็น Defensive Stock อีกครั้ง เพราะโอกาสที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดดูจะเป็นไปได้ยาก ยกเว้นมีการเก็งกำไรจากการเทกโอเวอร์ ซึ่งตอนนี้ก็เหลือเพียงห้างเทสโก้ โลตัส แห่งเดียวแล้วที่จะมีให้ซื้อ ถ้าผู้ถือหุ้นใหญ่ต่างชาติต้องการจะขาย
หากวิเคราะห์หุ้นค้าปลีกขนาดใหญ่ของไทยทั้ง 3 คือ CPALL, CPN และล่าสุด คือ BIGC (คาดว่าจะถูกซื้อโดย BJC) ต่างฝ่ายต่างเป็นค้าปลีกคนละกลุ่มคือ ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า และห้างไฮเปอร์มาร์เกต และถือหุ้นโดยสามเจ้าสัวของประเทศคือ กลุ่มซีพี กลุ่มจิราธิวัฒน์และกลุ่มสิริวัฒนภักดี โอกาสที่จะโตแบบก้าวกระโดดได้ต้องเป็นเกมของการเทกโอเวอร์เท่านั้น
แต่ดูแล้วค่อนข้างเสี่ยง หากมองย้อนหลังถึงดีล CPALL ซื้อ MAKRO ยังไม่เห็นพัฒนาการที่ชัดเจนในแง่โครงสร้างธุรกิจ และรายได้มากนักแถมยังมีความเสี่ยงในเรื่องสถานะการเงินอีก เกมเทกโอเวอร์จึงต้องดูกันยาวๆ อย่าเสี่ยงเก็งกำไรระยะสั้นเด็ดขาด
SuperTrader Team
ติดตามรายละเอียดของโครงการได้ที่ www.supertrader.co.th
SuperTrader รายการเรียลิตีการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศ เข้มข้นด้วยความรู้จากโค้ชผู้มากประสบการณ์ ผ่านบททดสอบจากตลาดหุ้นจริง