xs
xsm
sm
md
lg

ทีเอ็มบีเผยดัชนีความเชื่อมั่นเอสเอ็มอีเริ่มปรับตัวดีขึ้นตามการบริโภคที่คึกคัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิเคราะห์ ศก.ทีเอ็มบี เผยดัชนีความเชื่อมั่นเอสเอ็มอีช่วงไตรมาส 4/58 สูงขึ้นจากไตรมาส 3/58 ตามการบริโภคคึกคัก ส่วนความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้ายังสูงกว่าระดับปกติที่ 50 สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงเชื่อมั่นต่อภาวะธุรกิจช่วงต้นปี ซึ่งได้แรงส่งจากภาวะช่วงปลายปีก่อนด้วย

นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี เปิดเผยว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี” (TMB-SME Sentiment Index) ไตรมาส 4/58 จากการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SME จำนวน 1,276 กิจการทั่วประเทศ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ที่ 40.5 ปรับขึ้นจากระดับ 34.2 หรือเพิ่มขึ้นมา 18.4% จากไตรมาสก่อนหน้า

เนื่องจากเป็นช่วงที่มีวันหยุดต่อเนื่อง และเป็นช่วงเทศกาลซึ่งมีการจับจ่ายใช้สอย และการบริโภคค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/58 ประกอบกับเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวของทั้งภาคเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคมีความคึกคัก และมีเม็ดเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้น

สำหรับความเชื่อมั่นในช่วง 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ดัชนีอยู่ที่ 56.9 ปรับขึ้นจากระดับ 53.1 หรือเพิ่มขึ้น 7.15% สูงกว่าระดับปกติที่ 50 สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงเชื่อมั่นต่อภาวะธุรกิจช่วงต้นปี (ม.ค.-มี.ค.) น่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าในช่วงไตรมาส 4/58 เนื่องจากแรงส่งจากภาวะเศรษฐกิจในช่วงปลายปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดี และแรงส่งจากมาตรการภาครัฐฯ ที่ทยอยออกมากระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นไตรมาส 4/58 ที่ผ่านมา ยังส่งผลต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรกของปี 59

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการ SME ทั่วประเทศ 60.9% ยังมีความรู้สึกกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และกำลังซื้อชะลอตัว แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจช่วงปลายปีที่ดีขึ้นจะทำให้ผู้ประกอบการคลายความกังวลในประเด็นนี้ลดลงจาก 63.9% ในไตรมาส 3/58 แต่ถือว่ายังเป็นความกังวลในระดับที่สูง

โดยผู้ประกอบการ SME ภาคใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือ กังวลในประเด็นดังกล่าวสูงเป็นอันดับ 1 และ 2 คือ 65.0% และ 64.8% ตามลำดับ เนื่องจากภาคใต้ได้รับผลกระทบจากราคายางพาราที่ยังไม่มีทีท่าจะปรับเพิ่มขึ้น ราคาปาล์มน้ำมันยังคงต่ำ และปัญหาในอุตสาหกรรมประมง และอาหารทะเลที่ไม่กลับสู่ภาวะปกติ ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงได้รับผลลบจากราคาข้าวที่ลดลง ขณะที่ผลผลิตได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น