ผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหลักทรัพย์ฯ ใน 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงต่อเนื่องในกรอบซบเซาอย่างมาก ส่วนของนักลงทุนสถาบันในไทยแม้จะปรับตัวลงแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ทรงตัว เหตุยังคงวิตกกังวลสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ และความขัดแย้งจากต่างประเทศเป็นหลัก ด้าน “ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจทีเอ็มบี” ย้ำเศรษฐกิจไทยปี 59 จะเติบโตได้ที่ 3.5% จากภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง และการลงทุนภาครัฐที่จะเริ่มมีความชัดเจนในครึ่งหลังของปี เตือนกลุ่มธุรกิจค้าสินค้าการเกษตรและเครื่องจักร ผู้ผลิตและผู้ค้าเหล็ก รวมถึงผู้ผลิตอาหารทะเล ยังเป็นภาคธุรกิจที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนใน 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบจากดัชนีในเดือนที่ผ่านมา โดยนักลงทุนมีความกังวลจากสถานการณ์ต่างประเทศเป็นหลัก ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวลดลงมาอยู่ในกรอบซบเซา (Bearish)
นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย แถลงผลดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO NIDA Investor Sentiment Index) ซึ่งทำการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มผู้ลงทุน 4 กลุ่มในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในอีก 3 เดือนข้างหน้าว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มปรับตัวลดลง อันเนื่องมาจากความกังวลในสถานการณ์ต่างประเทศเป็นหลัก แม้จะมีปัจจัยเชิงบวกจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ผลสำรวจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจนอยู่ในกรอบซบเซา (Bearish)
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเดือนมีนาคม 2559 อยู่ในกรอบซบเซา (Bearish) ที่ 73.46 (ช่วงค่าดัชนีระหว่าง 0-200) ปรับตัวลดลง 17.85% จากเดือนที่ผ่านมาที่ 89.42 โดยดัชนีรายกลุ่มนักลงทุนปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกัน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนสถาบันต่างประเทศปรับตัวลดลงมากที่สุด (57.15%) อยู่ที่ 33.33 จนแตะระดับซบเซาอย่างมาก (Extremely Bearish) แต่ยังมีเพียงกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศกลุ่มเดียว ที่ดัชนีความเชื่อมั่นอยู่เกณฑ์ทรงตัว (Neutral) แม้จะปรับตัวลดถึง 28.03% ลงมาอยู่ที่ 90.91 ก็ตาม
ด้านผลสำรวจความเห็นของนักลงทุน ระบุว่า หมวดอุตสาหกรรมที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดการแพทย์ (HELTH) และหมวดอุตสาหกรรม ที่ไม่น่าสนใจมากที่สุดคือ หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ส่วนปัจจัยเชิงบวกที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นมากที่สุดคือ นโยบายเศรษฐกิจ และปัจจัยเชิงลบที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นมากที่สุดยังเป็นสถานการณ์ต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้น เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลก การปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในรอบถัดไป ปัญหาการเมือง และสงครามระหว่างประเทศที่ยังคงยืดเยื้อ ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก การไหลออกของกระแสเงินทุน เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภายในประเทศที่ส่งผลต่อทิศทางตลาดหุ้น ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งการลงทุนของภาครัฐที่เห็นเป็นรูปธรรม เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังฟื้นตัวได้เชื่องช้า รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้ง เป็นต้น
ด้าน ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มองว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2559 ยังสามารถเติบโตได้ที่ 3.5% โดยเครื่องจักรสำคัญที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการลงทุนภาครัฐที่เริ่มจะมีบทบาทมากขึ้นในช่วยครึ่งปีหลัง นอกจากนี้ ภาคการลงทุน และการบริโภคภาคเอกชนที่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวจากความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2559 มาจากภาคต่างประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน รวมถึงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ภาคส่งออกไทยที่ยังต้องเผชิญต่ออุปสรรคทางมาตรการทางการค้ามากขึ้น เช่น IUU และ GSP ของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลให้ตัวเลขส่งออกของไทยขยายตัวได้เพียงเล็กน้อยที่ 1.8% จึงเป็นความท้าทายที่จะต้องใช้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศเข้ามาทดแทนเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
สำหรับมุมมองต่อแนวโน้มภาคธุรกิจในปี 2559 ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB มองว่า ภาคธุรกิจที่จะสามารถขยายตัวได้ดี ได้แก่ กลุ่มรับเหมาและวัสดุก่อสร้าง กลุ่มโรงแรมและท่องเที่ยว กลุ่มค้าปลีก รวมถึงการขนส่ง ซึ่งจะได้รับผลดีจากการค้าขายชายแดนที่ขยายตัวมากขึ้น หลังจากที่ไทยก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเต็มรูปแบบ แต่ก็ยังมีภาคธุรกิจที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ กลุ่มธุรกิจค้าสินค้าการเกษตรและเครื่องจักร ผู้ผลิตและผู้ค้าเหล็ก รวมถึงผู้ผลิตอาหารทะเล เป็นต้น