xs
xsm
sm
md
lg

ทีเอ็มบีคาดที่ประชุม กนง.วันที่ 16 ธ.ค.นี้ จะคง ดบ.นโยบายที่ระดับ 1.5%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิเคราะห์ ศก.ทีเอ็มบี คาดประชุม กนง.รอบสุดท้ายของปี วันที่ 16 ธ.ค.นี้ จะคง ดบ.นโยบายที่ระดับ 1.5% เป็นการส่งสัญญาณตอบรับความเชื่อมั่นที่ฟื้นตัว มั่นใจทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภค และความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมจะมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น ตามการฟื้นตัวของ ศก.ไทย หลังผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วช่วงไตรมาส 2 และผลจากมาตรการกระตุ้น ศก.ที่ออกไปก่อนหน้านี้จะค่อยๆ ทยอยแสดงประสิทธิผล ส่งผลให้อุปสงค์ภายในประเทศซึ่งเป็นปัจจัยถ่วงในปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) คาดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 16 ธันวาคม 2558 จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับร้อยละ 1.50 หลังความเชื่อมั่นทั้งในส่วนของผู้บริโภค และภาคธุรกิจส่งสัญญาณดีขึ้น ช่วยเกื้อหนุนการฟื้นตัวของการบริโภค และการลงทุน

ทั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่า ทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภค และความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมจะมีแนวโน้มเป็นขาขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หลังเศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วไปช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา และผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกไปก่อนหน้านี้จะค่อยๆ ทยอยแสดงประสิทธิผล ส่งผลให้อุปสงค์ภายในประเทศซึ่งเป็นปัจจัยถ่วงในปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น

ดังนั้น กนง.จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายถูกตรึงไว้ที่ร้อยละ 1.50 ในการประชุมวันที่ 16 ธ.ค.นี้

โดยการประชุม กนง.ครั้งก่อนเมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 เนื่องจากนโยบายการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายเพียงพอ ค่าเงินบาทยังมีทิศทางอ่อนค่า ช่วยเกื้อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ กนง.จะรอประเมินผลการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด ขณะที่การลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอาจไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก

สำหรับสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทย ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจหลายๆ ตัว เช่น ดัชนีการบริโภค และการลงทุนในภาคเอกชน บ่งชี้ไปในทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจไทยผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2 สะท้อนผ่านตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือจีดีพีในไตรมาส 3 ซึ่งขยายตัวได้กว่าร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวถึงร้อยละ 1.0 จากไตรมาส 2 (หลังปรับฤดูกาล) เครื่องยนต์ที่สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ยังคงอยู่ที่ภาคการท่องเที่ยว และการลงทุนในภาครัฐเป็นหลัก ในทางกลับกัน อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภค และการลงทุนในภาคเอกชนยังคงอยู่ในภาวะอ่อนแอ

อย่างไรก็ดี อุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยหนึ่งในปัจจัยสนับสนุนมาจากการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นในหมวดหลักๆ ทั้ง 3 หมวด ได้แก่ ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ล้วนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน หลังมีการปรับคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจในช่วงปลายเดือนสิงหาคม จนนำมาสู่การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนตุลาคม เช่น การปล่อยกู้ผ่านกองทุนหมู่บ้าน มาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องแก่เอสเอ็มอี และมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคส่งสัญญาณพลิกฟื้นขึ้นมาตั้งแต่เดือนตุลาคม จากการศึกษาของศูนย์วิเคราะห์ฯ พบว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการบริโภคสินค้าคงทน เนื่องจากสินค้าคงทนส่วนใหญ่มีราคาค่อนข้างสูง เช่น รถยนต์ ดังนั้น ผู้บริโภคจึงต้องมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ของเศรษฐกิจ และรายได้พอสมควร ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อสินค้าเหล่านี้

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่ ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากความเชื่อมั่นในหมวดนี้เป็นแรงผลักดันสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นการลงทุนในภาคเอกชนในปัจจุบัน หลายฝ่ายมองว่าปี 2559 จะเป็นปีแห่งการลงทุน เนื่องจากการเร่งลงทุนจากภาครัฐจะช่วยกระตุ้นการลงทุนในภาคเอกชน

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของศูนย์วิเคราะห์ฯ พบว่า แรงผลักดันจากการลงทุนภาครัฐเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนได้อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น การเร่งลงทุนของรัฐบาลจำเป็นจะต้องทำควบคู่ไปกับการกระตุ้นความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม หากเราต้องการให้ปี 2559 เป็นปีแห่งการลงทุนอย่างที่หลายฝ่ายตั้งความหวังไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น