ศูนย์วิเคราะห์ ศก.ทีเอ็มบี เปิดเผยผลการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี พบว่า ความเชื่อมั่นของธุรกิจเอสเอ็มอีไตรมาส 3 ตกต่ำสุดในรอบ 3 ปี ชี้ต้นเหตุสำคัญกำลังซื้อหดหาย พร้อมคาดหวังภาครัฐฯ กระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ และพลิกฟื้น ศก.ในปีหน้า ท่ามกลางปัญหาที่ยังรุมเร้า ศก.อย่างต่อเนื่องในปี 59
นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) ธนาคารทหารไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี (TMB-SME Sentiment Index) ไตรมาส 3/58 จากการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SME 1,262 กิจการทั่วประเทศ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ที่ 34.2 ปรับลงจากระดับ 38.7 หรือลดลง 11.6% จากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากผู้ประกอบการมองว่ารายได้ของธุรกิจลดลงกว่าช่วงครึ่งปีแรก โดยภาคที่ผู้ประกอบการให้ความเห็นว่ารายได้ของธุรกิจมีแนวโน้มลดลงค่อนข้างสูง คือ ภาคเหนือ และภาคตะวันออก
โดยช่วงที่ผ่านมา ภาคเหนือต้องประสบต่อภาวะภัยแล้ง สร้างความเสียหายต่อภาคการเกษตร ปัญหาไฟป่า และหมอกควัน และอยู่นอกฤดูกาลท่องเที่ยว ทำให้กำลังซื้อในพื้นที่ลดลง ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศ ได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมลดการผลิต การจ้างแรงงาน ซ่อมบำรุง และเลื่อนการลงทุนออกไป ทำให้เศรษฐกิจในภาคตะวันออกชะลอตัวลง
“ผลสำรวจปัจจัยความกังวลของผู้ประกอบการยังสะท้อนถึงความกังวลเรื่องเศรษฐกิจในประเทศ และกำลังซื้ออ่อนแอเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 63.9 สูงสุดในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่เริ่มสำรวจความเห็น ปัจจัยกังวลเป็นอันดับที่ 2 คือ ปัญหาด้านการบริหารจัดการธุรกิจ-การบริหารเงินทุนหมุนเวียน เนื่องจากยอดขายที่ชะลอตัวลง ทำให้สภาพคล่องของธุรกิจตึงตัว นอกจากนั้น ด้านความกังวลภัยธรรมชาติ ตามมาเป็นอันดับ 3 ที่ 8.9% เพิ่มขึ้นจาก 4.6% ในไตรมาสก่อนหน้าเกือบเท่าตัว เนื่องจากภัยแล้งกระทบต่อภาคการเกษตรที่เป็นกำลังซื้อสำคัญในภูมิภาค”
ส่วนความเชื่อมั่นของธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ดัชนีอยู่ที่ 53.1 สูงกว่าระดับปกติที่ 50 สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงเชื่อมั่นต่อภาวะธุรกิจปลายปีนี้ แม้ปรับลงจากระดับ 53.8 ในไตรมาส 2 เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นในอนาคตเริ่มมีสัญญาณที่อ่อนแอลงในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาคตะวันออก สวนทางต่อภูมิภาคอื่นๆ ที่เริ่มมีแนวโน้มความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ มีมุมมองว่า ผลสำรวจความเชื่อมั่นในไตรมาส 3 สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นใจในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันอย่างชัดเจน เนื่องจากในปีนี้ผู้ประกอบการ SME ต้องเผชิญปัญหากำลังซื้อในประเทศที่ลดลงจากภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การส่งออกชะลอตัวจากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ยังมีปัญหา อย่างไรก็ตาม จากที่ภาครัฐเร่งดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ มากขึ้นตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 จนถึงช่วงต้นไตรมาส 4 นั้น ทำให้ในหลายๆ ภูมิภาคเริ่มเกิดความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้าเริ่มดีขึ้นในหลายภูมิภาค แต่ยังคงต้องใช้เวลาระยะหนึ่งจึงจะเห็นผลของมาตรการทั้งหมดนี้อย่างชัดเจน และยังคงต้องเฝ้าระวังประเด็นความกังวลที่จะยังส่งผลต่อเนื่องไปยังปี 59 อีกด้วย เช่น ปัญหาภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และส่งออกฟื้นตัวล่าช้า
“ถึงแม้ว่าการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีในปีหน้าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อได้ แต่ผลดีก็กระจุกในเมืองท่องเที่ยวเป็นหลัก ดังนั้น ความหวังที่จะพลิกพื้นกำลังซื้อภายในประเทศจึงต้องอาศัยการใช้จ่าย ลงทุน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่วนขนาดของเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นเพียงพอจะฟื้นเศรษฐกิจในประเทศหรือไม่ เรายังคงต้องติดตามประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนนโยบาย และปัจจัยเสี่ยงที่อาจรุมเร้าธุรกิจ SME ในปีหน้า” นายเบญจรงค์ กล่าวสรุป