ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หั่นจีดีพีปีนี้เหลือโต 2.7% มองปี 2559 เศรษฐกิจดีขึ้น และเติบโตได้ถึง 3.5 จากการลงทุนโครงการภาครัฐ และภาคการท่องเที่ยว
นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปีนี้ เริ่มมีแรงขับเคลื่อนจากในประเทศ แต่เศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่หดตัวแรง โดยหดตัวร้อยละ 5.5 ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี)ในปีนี้ เติบโตที่ร้อยละ 2.7 ลดลงจากประมาณการเดิมที่คาดว่าโตร้อยละ 3 แต่เศรษฐกิจยังมีแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวร้อยละ 22 และอานิสงส์เพิ่มจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน วงเงิน 1.36 แสนล้านบาท และการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มกลับสู่ภาวะปกติเร็วกว่าคาด ยังช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ แต่หากไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วนของรัฐบาล จีดีพีปีนี้ อาจจะโตแค่ร้อยละ 2.5
ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 โดยมีปัจจัยผลักดันมาจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ ที่ขยายตัวร้อยละ 6.5 โดยเฉพาะแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีการอนุมัติในช่วงปลายปี 2558 ประมาณ 30,000 ล้านบาท และจะเริ่มก่อสร้างในปลายปี 2559 ที่จะสนับสนุนให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนตามมาที่คาดขยายตัวร้อยละ 2.9 การท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยในปีหน้านักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 30-31 ล้านคน และการบริโภคค่อ ๆ ฟื้นตัวตามความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น และ การใช้จ่ายที่เติบโตตามภาคการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าทรงตัว ขยายตัวร้อยละ 2 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างเปราะบาง และ มีความเสี่ยงจากอุปสรรคต่าง ๆ เช่นการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องรายได้เกษตรกรที่อยู่ในระดับต่ำ ภัยแล้ง และ หนี้สินภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่เงินเฟ้อในปี 2559 ปรับขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ร้อยละ 0.9 เพราะราคาน้ำมันเริ่มจะปรับขึ้นบ้างเฉลี่ยประมาณ 45-50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ส่วนอัตราดอกเบี้ยในปี 2559 คาดว่าจะมีแนวโน้มขาขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจถูกปรับขึ้น 2 ครั้ง จากร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 2 คาดจะมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 3 ซึ่งเป็นช่วงที่เงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย อย่างไรก็ตามแนวโน้มที่สหรัฐจะปรับขึ้นดอกเบี้ย และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังตกต่ำ เป็นปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเล็กน้อย คาดการณ์เคลื่อนไหวที่ 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนการขยายตัวของสินเชื่อในปีนี้ คาดว่าจะโตร้อยละ 5.2 มาจากการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของภาครัฐในสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี ส่วนปี 2559 คาดว่าสินเชื่อจะขยายตัวร้อยละ 6.1 จากนโยบายการลงทุนของโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมก่อสร้างทั้งรายใหญ่และเอสเอ็มอี ส่วนคุณภาพสินเชื่อคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ลดลงจากร้อยละ 2.85 ในไตรมาส 3/2558 มาอยู่ที่ 2.6 ในปี 2559 จากผลการลงทุนภาครัฐทำให้ธุรกิจมีรายได้เข้ามาต่อเนื่อง
ส่วนมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่รัฐบาลประกาศนั้น คาดว่าจะเป็นการกระตุ้นเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากกว่าที่จะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวม เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มีคอนโดมิเนียมและบ้านจัดสรรที่สร้างเสร็จรอการขายอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น การเริ่มโครงการใหม่น่าจะชะลอออกไปก่อน เพื่อรอกำลังซื้อในอนาคต แต่ผลที่ต้องติดตาม คือภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพราะมาตรการดังกล่าวกระตุ้นให้นำกำลังซื้อในอนาคตมาใช้ อาจจะส่งผลให้อุปสงค์อสังหาริมทรัพย์ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้าแผ่วลง แต่หากรัฐบาลมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า จะกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ให้มีการลงทุนเพิ่มได้