xs
xsm
sm
md
lg

ชำแหละนโยบาย ดบ.ติดลบของบีโอเจ น่าจะส่งผลบวกต่อไทย 2 ด้าน ทั้ง ศก. และตลาดทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB หรือ TMB Analytics คาดว่า การประกาศอัตราดอกเบี้ยติดลบของธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan : BOJ) จะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทย และการส่งออก พร้อมคาดว่าจะมีเงินลงทุนต่างชาติจะเริ่มไหลกลับเข้าตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้ของไทยอีกครั้ง

โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (29 ม.ค.) BOJ มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ (5:4) ให้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของเงินที่ธนาคารพาณิชย์ในญี่ปุ่นที่ฝากไว้กับ BOJ จากเดิมที่ 0.1% มาเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ย 3 ขั้น ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำที่สุดอยู่ที่ -0.1% (อัตราดอกเบี้ย 3 ขั้น ได้แก่ 0.1%, 0% และ -0.1% ขึ้นอยู่กับปริมาณเงินที่ธนาคารพาณิชย์ในญี่ปุ่นฝากไว้กับ BOJ) ขณะที่วงเงินที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นยังคงเดิมที่ 80 ล้านล้านเยนต่อปี

ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่า ปัจจัยดังกล่าวน่าจะส่งผลบวกต่อไทยใน 2 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ และด้านตลาดทุน โดยในส่วนของเศรษฐกิจของ BOJ ดังกล่าวน่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นเสมือนการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ และส่งเสริมให้เกิดการลงทุนมากขึ้น อีกทั้งนโยบายดังกล่าวก็ส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของญี่ปุ่นอีกด้วยได้ดี ภาคการส่งออกของไทยก็จะได้รับผลในเชิงบวกตามมาด้วย

อนึ่ง ในปีที่ผ่านมา ปริมาณการส่งออกจากไทยไปญี่ปุ่นมีมูลค่าอยู่ที่ 20,075.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นราว 9.4% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด โดยคาดว่าอุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับผลบวกมากที่สุด คือ ภาคยานยนต์

ด้านตลาดทุนหลังจากที่ BOJ ปรับอัตราดอกเบี้ยลงจะเห็นได้ชัดเจนว่า เริ่มมีเงินลงทุนไหลเข้าทั้งตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้ทั่วโลก เห็นได้ชัดจากผลตอบแทนบนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี ที่ปรับตัวลงไปอยู่ที่ระดับ 0.1% (-14bps) อย่างรวดเร็ว และผลตอบแทนบนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ก็ปรับตัวลงแรงตามไปที่ระดับ 1.92% (-13bps) ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน

ด้านตลาดหุ้นดัชนีนิกเกอิญี่ปุ่นปรับตัว +3.3% ดาวโจนส์ปรับตัว +2.2% แด๊กซ์เยอรมนี +2.06% และเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตที่ +3.09% ในช่วงสัปดาห์ก่อนก็เป็นอีกสัญญาณที่ชี้ชัดว่า เริ่มมีเงินทุนไหลเข้าตลาดทุนแล้ว ด้านตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ก่อน (25 ม.ค.-29 ม.ค.) ก็ปิดที่ระดับ 1,300 จุด ปรับตัวขึ้น 32 จุดจากสัปดาห์ก่อน ส่งผลให้ผลตอบแทน year-to-date ปรับตัวขึ้นมาเป็น +1.01% ด้านผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ก็ปรับตัวลงหนักจากแรงซื้อของทั้งผู้ค้าไทย และต่างประเทศเช่นกัน จนส่งผลให้ผลตอบแทนบนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 2.30% (-19bps) เท่านั้นในท้ายสัปดาห์

ศูนย์วิเคราะห์ฯ มีมุมมองว่า เงินลงทุนดังกล่าวจะยังไหลเข้าตลาดทุนทั้งในหุ้น และตลาสารหนี้ในระยะสั้น และเชื่อว่าผู้ค้าในตลาดจะเริ่มมีความคาดหวังว่า ธนาคารกลางอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย เช่น ธนาคารกลางจีน (PBOC) และ ธปท.จะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะเดียวกันเร็วๆ นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น