โดย ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ
Dr.win@one-asset.com
ภาพการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงนี้ ผมเชื่อว่านักลงทุนคงเกิดคำถามเกี่ยวกับทิศทางความเป็นไปของพอร์ตการลงทุนตนเองและมีปัจจัยอะไรที่สามารถกดดันภาพการลงทุนของตลาดหุ้นทั่วโลกได้ ปัจจัยแรก ความวิตกเกี่ยวกับตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศจีน นำมาซึ่งความกังวลว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกอย่างประเทศจีน จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของประเทศคู่ค้ามากน้อยแค่ไหน ตลาดยังคงติดตามรอดูการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่จากทางการจีน ที่ผ่านมามีทั้งการลดอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินสำรองตามกฎหมาย หรือผ่านช่องทางการลงทุนของภาครัฐต่างๆ
และล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนได้สร้างความประหลาดใจแก่ตลาด โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% และลดอัตราการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์อีก 0.50% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 26 ส.ค.เป็นต้นไป ซึ่งนับว่าเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 5 ของธนาคารกลางจีน ปัจจัยที่สอง ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 6 ปี เนื่องจากความกังวลเรื่องปริมาณการใช้น้ำมันดิบจะลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้บริโภคสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ของโลก และน้ำมันมีสัดส่วนการบริโภคอยู่ที่ 12% ของการบริโภคทั้งหมด ในขณะที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันยืนยันกำลังการผลิตเท่าเดิมในระดับสูงเพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด ปัจจัยที่สาม การปกป้องเศรษฐกิจของประเทศตนเองด้วยการลดค่าเงินเพื่อกระตุ้นภาคการส่งออก ประกอบกับตลาดยังมีความไม่แน่นอนเรื่องทิศทางนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในเดือนกันยายนนี้ ด้วยปัจจัยดังกล่าว ผมมองว่าขณะนี้ผู้ลงทุนได้ลงทุนภายใต้สถานการณ์ความกังวลและไม่ชัดเจน จึงได้ส่งผลให้เกิดแรงเทขายเพื่อปิดความเสี่ยงจากการลงทุน
ในวิกฤตยังมีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีหรือไม่นั้น สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้เพื่อพลิกให้เป็นจังหวะของการสร้างผลตอบแทนคือการติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานจริงๆ ว่ายังดีอยู่หรือไม่ และกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ในสัดส่วนที่เหมาะสม ในแง่ของความเคลื่อนไหวของตลาดในส่วนของ ตราสารหนี้ ปัจจุบันที่สินทรัพย์เสี่ยงมีความผันผวน นักลงทุนเริ่มมองหาสินทรัพย์ที่ปลอดภัย โดยเฉพาะตราสารหนี้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว (Develop Market) เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เยอรมนี และญี่ปุ่น
ขณะที่ตราสารหนี้ในประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) ยังคงมีแรงอยู่บ้าง ผมมองว่าการเลือกลงทุนลักษณะนี้เป็นการลงทุนที่ซื้อความมั่นใจว่าความเสี่ยงจะน้อยลงหากลงทุนในประเทศที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี สำหรับแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ในประเทศ จากนี้ไปคาดว่าแรงขายจะเริ่มลดลงเพราะที่ผ่านมามีทยอยขายออกอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันนี้สัดส่วนการถือครองตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติในตราสารหนี้ไทยมีสัดส่วนประมาณไม่เกิน 7%
ขณะที่ ตลาดหุ้นในประเทศ ตลาดยังคงผันผวน ประกอบกับมีปัจจัยกดดันเรื่องค่าเงินที่อ่อนค่า ทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ถือสินทรัพย์ที่ไม่ใช่สกุลเงินประเทศตนเองมีความเสี่ยงกับการขาดทุน ในทางกลับกัน หากพิจารณาค่า Valuation ของตลาดหุ้น ยังมีความน่าสนใจเพราะความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน (EPS) อยู่ที่ประมาณ 4.7 เท่า ในขณะที่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.2 เท่า ดังนั้นผมมองว่าหากตัดประเด็นเรื่องความกังวลกับปัจจัยที่ยังไม่ชัดเจนออก และพิจารณาในแง่มุมของมูลค่าหุ้นของตลาด ระดับดัชนีในกรอบ 1,300 จุดยังเหมาะสำหรับการทยอยเข้าลงทุนในหุ้นดีๆ และถือลงทุนในระยะยาว
ตลาดหุ้นต่างประเทศ ผมมองว่าการปรับตัวลงของตลาดหุ้นต่างประเทศรอบนี้มีสาเหตุมาจากความวิตกกังวลบนสถานการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่โดยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจหากพิจารณาเป็นรายประเทศถือว่าดีอยู่ เริ่มต้นจากสหรัฐฯ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังส่งสัญญาณถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในปีนี้ ด้านยูโรโซน สถานการณ์ปัญหาเรื่องหนี้ของประเทศกรีซก็คลี่คลาย เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงกับเจ้าหนี้ ซึ่งก็อาจจะมีข่าวคราวออกมาเป็นระยะๆ ด้านญี่ปุ่นยังคงดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และเป็นประเทศที่ปัจจัยพื้นฐานการลงทุนยังแข็งแกร่ง ขณะที่ประเทศจีนที่ยังสร้างความกังวลแก่นักลงทุน ซึ่งหากวิเคราะห์ย้อนหลังทางการจีนเลือกใช้มาตรการรุนแรงแบบฉับพลัน ทำให้ผู้ลงทุนกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ในประเทศ ส่งผลกระทบให้มีแรงเทขายทำกำไรมาตลอด และลุกลามไปถึงการขายทำกำไรข้ามตลาดหุ้น ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกต้องเผชิญกับความผันผวนอย่างเช่นในปัจจุบัน
สำหรับคำแนะนำในการปรับสัดส่วนการลงทุนในช่วงนี้ ผมแนะนำให้เน้นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อย คือตราสารหนี้คุณภาพ ประมาณ 50-60% ของพอร์ตการลงทุน และกระจายการลงทุนไปยังกองทุนอสังหาริมทรัพย์ในสัดส่วนประมาณ 20-30% เพราะมีความโดดเด่นด้านการจ่ายเงินปันผล ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และเป็นสินทรัพย์ที่ยังไม่ได้รับผลกระทบมากจากการไหลของเงินทุนต่างประเทศ ทั้งนี้ ในสัดส่วนของหุ้นไทย หากดัชนีมีการเคลื่อนไหวในกรอบที่ต่ำกว่า 1,350 จุด แนะนำให้ทยอยเข้าสะสมและลงทุนระยะยาว โดยหลีกเลี่ยงหุ้นในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น กลุ่มพลังงาน ในส่วนของการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ ในช่วงนี้ผมแนะนำให้เลือกเข้าลงทุนอย่างระมัดระวัง หรือชะลอการเข้าลงทุน จนกว่าสถานการณ์ในตลาดหุ้นจีนจะกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้งก็ยังทันครับ
•นักลงทุนสามารถสอบถามเพิ่มเติมและขอรับร่างหนังสือชี้ชวนได้ที่ฝ่ายบริการลูกค้าและสนับสนุนธุรกิจที่หมายเลข 0-2659-8888 ต่อ 1 ครับ
•“ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน”