xs
xsm
sm
md
lg

ทีเอ็มบี หั่นเป้าจีดีพีเหลือ 3% ยืนมุมมองฟื้นแบบ U-shape ชี้ ศก.ครึ่งปีหลัง อาการยังน่าห่วง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB คาดเศรษฐกิจไทย ช่วงที่เหลือของปีนี้ อาการน่าเป็นห่วง หั่นคาดการณ์จีดีพีปีนี้เหลือ 3% จากเดิมที่มองไว้ 3.5% ยืนมุมมองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแบบยูเชพ

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2558 ลงเหลือร้อยละ 3.0 จากภาคการส่งออกที่อ่อนแอลงกว่าคาด การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในประเทศฟื้นตัวช้า แม้มีสัญญาณบวกจากภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐ ส่วนเงินเฟ้อทั้งปีมีแนวโน้มเสี่ยงหลุดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

จากการแถลงของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปีขยายตัวร้อยละ 3.0 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 เป็นผลจากการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้ดี อย่างไรก็ดี แม้สภาพัฒน์ฯ คาดหวังว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้จากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนและผลผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี แต่ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปีนี้ลงเหลือร้อยละ 3.0-4.0

ทางด้านศูนย์วิเคราะห์ฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังอยู่ในอาการ “น่าเป็นห่วง” และยืนมุมมองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในรูปแบบตัวยู (U-shape) พร้อมทั้งหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจในปีนี้เหลือเพียงร้อยละ 3 (จากเดิมร้อยละ 3.5 คาดการณ์ ณ ธันวาคม 2557) จากความเสี่ยงภาคการส่งออกเป็นสำคัญ เศรษฐกิจคู่ค้าหลักอย่างสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีนยังอ่อนแอ โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ส่งผลให้การส่งออกของไทยไปยังอาเซียนแย่ลงด้วย นอกจากนี้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ในระดับต่ำส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าส่งออกของไทยโดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตร จึงเป็นความเสี่ยงที่อาจได้เห็นส่งออกไทยหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่สาม หลังจากหดตัวที่ร้อยละ 0.3 และร้อยละ 0.4 ในปี 2556-57 ตามลำดับ ซึ่งศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่า รายได้จากการส่งออกสกุลดอลลาร์สหรัฐ น่าจะหดตัวร้อยละ 1.7 ในปีนี้

ส่วนการบริโภคและการลงทุนเอกชนในประเทศยังมีแนวโน้มขยายตัวระดับต่ำ โดยราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำและภาวะภัยแล้งที่ส่งผลให้ผลผลิตเกษตรลดลงกดดันกำลังซื้อภาคเกษตร หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง (79% ของจีดีพี ณ สิ้นปี 2557) อีกทั้งสถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับต่ำ จะเป็นปัจจัยถ่วงต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันให้เงินเฟ้อน่าจะติดลบที่ร้อยละ 0.5 ในปีนี้ ซึ่งต่ำกว่ากรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย ส่วนการลงทุนภาคเอกชนนั้น จากกำลังซื้อทั้งในและนอกประเทศที่ยังคงอ่อนแอ ทำให้ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจยังคงเปราะบางด้วยเช่นกัน กอปรกับกำลังการผลิตส่วนเกินที่ยังคงมีอยู่ จะเห็นได้จากอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนเมษายนหลังปรับฤดูกาลอยู่ที่ร้อยละ 58.2 เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี ทำให้ภาคธุรกิจขาดแรงจูงใจเร่งลงทุนเพิ่มเติม

สำหรับเครื่องยนต์เศรษฐกิจอีกสองตัวที่เหลือที่ตั้งอยู่บนความคาดหวังของหลายฝ่ายนั้น กล่าวคือ การท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐนั้น แม้ไม่สามารถผลักดันให้เศรษฐกิจกลับไปขยายตัวได้ใกล้เคียงในระดับศักยภาพ แต่สามารถช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้ โดยในส่วนการใช้จ่ายภาครัฐ ได้มีการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมไปแล้ว 1.4 พันล้านบาท ณ สิ้นเมษายน
กำลังโหลดความคิดเห็น