xs
xsm
sm
md
lg

TMB Analytics ประเมินเม็ดเงินใหลเข้าไทยกว่า 4 หมื่นล้านบาท หลังยุโรปประกาศเดินหน้า QE

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


TMB Analytics ประเมินเม็ดเงินต่างชาติจะทยอยใหลเข้าตลาดตราสารหนี้กว่า 4 หมื่นล้านบาทต่อเดือน หลัง ECB ประกาศเดินหน้ามาตรการ QE อัดฉีดเงินเข้าระบบกว่า 6 หมื่นล้านยูโรอย่างน้อย 18 เดือน

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินว่า เงินทุนต่างชาติจะไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาทต่อเดือนโดยเฉลี่ย หลังธนาคารกลางยุโรปประกาศใช้มาตรการคิวอี อัดฉีดเงินเข้าระบบกว่า 6 หมื่นล้านยูโรเป็นเวลาอย่างน้อยปีครึ่ง ส่งผลให้ค่าเงินยูโรยังมีแนวโน้มอ่อนค่า และกดดันให้ผลตอบแทนตราสารหนี้ไม่ปรับสูงขึ้น  
       
หลังจากรอคอยกันมาอย่างยาวนาน ในที่สุดธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ก็ตัดสินใจประกาศใช้มาตรการคิวอีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยอีซีบีประกาศว่า จะเริ่มการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล และเมื่อรวมกับตราสารหนี้ภาคเอกชนซึ่งเริ่มซื้อมาก่อนหน้านี้แล้ว เป็นมูลค่า 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน หรือคิดเป็นประมาณ 7 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน โดยจะเริ่มในเดือนมีนาคม ไปอย่างน้อยจนถึงเดือนกันยายนปีหน้า นั่นหมายความว่า อีซีบีจะอัดฉีดเงินเข้าระบบถึง 1.1 ล้านล้านยูโร หรือประมาณ 40 ล้านล้านบาท (คิดเป็นเกือบ 4 เท่าของ GDP ไทยต่อปี) เป็นอย่างน้อย

อย่างไรก็ตาม มีข้อสงสัยหลายประเด็นก่อนหน้านี้ว่า เหตุใดอีซีบีต้องทำการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล ปัจจัยหลักๆ ก็คือ เศรษฐกิจของยูโรโซนที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อค่อยๆ ปรับลดลงมาเรื่อยๆ จนฟางเส้นสุดท้ายคือ เงินเฟ้อที่พลิกไปอยู่ในโซนลบที่ร้อยละ 0.2 ในเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วเหตุใดอีซีบีถึงไม่ออกมาทำอะไรก่อนหน้านี้ ทำไมถึงต้องรอให้เกิดภาวะเงินฝืดก่อน ที่จริงแล้วอีซีบีก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นการลดดอกเบี้ยลงจนเหลือร้อยละ 0.05, การดำเนินนโยบาย Targeted Longer-term Refinancing Operations (TLTROs) รวมถึงการเข้าซื้อ Covered Bonds และ Asset-backed Securities (ABS) อย่างไรก็ตาม มาตรการทั้งหมดถูกวิจารณ์ว่าไม่เพียงพอต่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจยุโรป จนมาถึงคิวของไพ่ใบสุดท้ายซึ่งก็คือ การเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลนั่นเอง

ขณะเดียวกัน มาตรการคิวอีของยุโรปล่าสุดนับว่ามีขนาดที่สมน้ำสมเนื้อทีเดียว โดยเมื่อเทียบกับคิวอีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งเคยเข้าซื้อสินทรัพย์สูงถึง 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ถึงแม้เมื่อเทียบเม็ดเงินโดยตรง คิวอีของอีซีบีจะน้อยกว่าของเฟดประมาณ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน แต่หากนำขนาดของเศรษฐกิจมาพิจารณาร่วมด้วย จะพบว่า มาตรการคิวอีของอีซีบีมีขนาดใหญ่กว่าของเฟดเล็กน้อย โดยปริมาณการเข้าซื้อต่อเดือนของอีซีบีอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของจีดีพีของยูโรโซน สูงกว่าของเฟดที่ร้อยละ 0.5 ดังนั้น ศูนย์วิเคราะห์ฯ จึงมองว่าการขยับครั้งใหญ่ของอีซีบีในครั้งนี้ น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อในยูโรโซนได้ไม่มากก็น้อย

ทั้งนี้ เป็นที่แน่นอนว่า เมื่ออีซีบีออกมาตรการที่มีขนาดใหญ่ขนาดนี้ ย่อมมีผลต่อตลาดการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยหลังการประกาศ ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงในทันทีมาอยู่ที่ 37 บาทต่อยูโร จากระดับประมาณ 37.8 บาทต่อยูโรก่อนมีการประกาศ และจากระดับ 40 บาทในช่วงต้นปี สำหรับในระยะถัดไป ศูนย์วิเคราะห์ฯ ยังคงมองว่า ค่าเงินยูโรจะมีแนวโน้มอ่อนค่า จากเม็ดเงินที่จะทยอยไหลเข้ามาในอนาคต โดยเราประเมินว่า เม็ดเงินที่จะไหลเข้ามาน่าจะไหลเข้าไปในตลาดตราสารหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตราสารหนี้ระยะสั้น เนื่องจากนักลงทุนยังต้องระวังความเสี่ยงที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี โดยทางศูนย์วิเคราะห์ฯ ประเมินว่า เม็ดเงินที่จะไหลเข้ามาน่าจะอยู่ในระดับสูงถึง 4 หมื่นล้านบาทต่อเดือนโดยเฉลี่ย เพิ่มขึ้นจากประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อเดือนในช่วงท้ายของปีที่แล้ว กดดันให้ผลตอบแทน (yield) ของตราสารหนี้ยังอยู่ในระดับต่ำต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น