xs
xsm
sm
md
lg

ทีเอ็มบีเชื่อ ดบ. 2% ยังเอาอยู่-เศรษฐกิจฟื้นแบบ U-Shape

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ประเมินจีดีพีไตรมาสสามขยายตัวร้อยละ 1.6 ฟื้นตัวช้ากว่าคาด และเข้าสู่ U-Shape ทำให้ปี 2557 เศรษฐกิจน่าจะขยายตัวได้เพียง 1.3% มองดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% ยังเอาอยู่

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสามน่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 2.2 จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเร่งตัวขึ้นบ้างจากการขยายตัวร้อยละ 0.9 ในไตรมาสที่ 2/2557 แต่ก็ไม่ใช่การฟื้นตัวที่เร็วและแรงพอจะเรียกว่าเป็นแบบ V-Shape ได้ ทำให้อัตราการเติบโตของทั้งปีนี้ น่าจะลดมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.3 เท่านั้น เทียบกับร้อยละ 2.0 ที่ให้ไว้ก่อนหน้า

นอกจากนี้ มองในระยะต่อไปว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือ แบบ U-Shape นั่นคือ ต้องให้เวลาอีกสักระยะในการสร้างโมเมนตัม จึงอาจไม่ทันใจภาคธุรกิจและประชาชนที่อยากเห็นเศรษฐกิจไทยกลับมาแข็งแกร่ง ทำมาค้าคล่องโดยเร็ว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นกระแสกดดันให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจต้องตัดสินใจผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ในห้วงเวลาที่นโยบายการคลังยังออกโรงไม่เต็มที่ อย่างไรก็ตาม การศึกษาของศูนย์วิเคราะห์ฯ พบว่า นโยบายการเงินต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนในการส่งผ่านผลไปยังภาคเศรษฐกิจจริง หมายความว่า หาก กนง. ตัดสินใจลดดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 17 ธันวาคมนี้ กว่าจะเห็นประสิทธิผลของนโยบายดังกล่าวก็ต้องรอครึ่งหลังของปี 2558 ซึ่งเมื่อเวลานั้นมาถึง การใช้จ่ายและโครงการลงทุนต่างๆ ของรัฐบาล ก็คงออกโรงอย่างเต็มตัวไปแล้ว ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันที่ร้อยละ 2.00 จึงยังถือว่าเหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยในปีนี้

ทั้งนี้ ผลของการลดดอกเบี้ย (ถ้าเกิด กนง. เซอร์ไพรส์ด้วยการหั่นดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมาจริง) น่าจะเป็นทางด้านจิตวิทยาและความเชื่อมั่นมากกว่า ซึ่งจะส่งผลบวกทันทีกับตลาดการเงินของไทย เช่น ตลาดหุ้นและราคาพันธบัตร เป็นต้น เรียกว่าอาจส่งผลคนละด้านกับที่ กนง. คาดไว้ และอาจสร้างความเสี่ยงทางด้านเสถียรภาพขึ้นมาแทน เพราะหากมองไปรอบๆ ประเทศไทยจะพบว่า แทบไม่มีธนาคารกลางใดเลยที่อยู่ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง (ยกเว้นเกาหลีใต้ที่มีปัญหาเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้า) ดังนั้น การปรับลดดอกเบี้ยอาจทำให้เงินทุนต่างชาติหนีออกจากไทย ค่าเงินบาทผันผวน และเงินเฟ้อเร่งตัวเกินคาดการณ์ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น