ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี รายงานดัชนีความเชื่อมั่นเอสเอ็มอีไตรมาส 4/2558 และ 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มสูงสุดในรอบปีที่ 40.5 จาก 34.2 และ 56.9 จาก 53.1 หลังมาตรการรัฐอัดฉีดเต็มที่ 2 เดือนสุดท้ายของปี ระบุต้องจับตาการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ห่วงภัยแล้ง เกษตรตกต่ำฉุดบริโภค
นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (TMB) เปิดเผยถึงผลการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อมโดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ว่า ในไตรมาส 4/2558 ดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ 40.5 ปรับขึ้นจากระดับ 34.2 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 ซึ่งนับเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกหลังปรับลดลงตลอดปีที่ผ่านมา ปัจจัยหลักมาจากความกังวลในเรื่องของรายได้ลดลงในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีที่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้ามา และเป็นฤดูกาลจับจ่ายใช้สอย
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นใน 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวขึ้นเป็น 56.9 จากระดับ 53.1 เป็นการปรับขึ้นครั้งแรกหลังปรับตัวลดลง 3 ไตรมาสติดต่อกัน ซึ่งปัจจัยหลักมาจากความเชื่อมั่นในด้านรายได้เพิ่มขึ้น จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
“ปีนี้ก็ยังเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับเอสเอ็มอีอยู่ แม้จะไม่ย่ำแย่อย่างปีก่อน แต่ก็ไม่ได้ฟื้นแรง เพราะด้านการบริโภคยังถูกกดดันจากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยแล้ง หนี้ครัวเรือนที่สูง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งการฟื้นตัวของเอสเอ็มขึ้นอยู่กับการบริโภคในประเทศ ถ้าไม่ฟื้น เอสเอ็มอีก็คงฟื้นไม่ได้ โดยปีนี้ทีเอ็มบีคาดการบริโภคขยายตัว 3% จากเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ 3.5% ถือเป็นอัตราที่ไม่สูงนัก”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปก็คือ แม้ดัชนีความเชื่อมั่นจะเพิ่มสูงขึ้นแต่ก็ยังไม่แข็งแกร่ง เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ จึงต้องดูถึงการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 3-4 เดือน เพื่อส่งผ่านถึงภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง และเป็นการใช้จ่ายในสินค้าคงทน ดังนั้น ภาครัฐจึงยังต้องมีการบริหารจัดการในส่วนนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาว
ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของกลุ่มเอสเอ็มอีนั้น นายเบญรงค์ กล่าวว่า แนวโน้มคงจะยังเป็นขาขึ้นอยู่ โดยประเมินจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ลดลงถึงจุดต่ำสุดในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา และหากจะมีบางส่วนที่ต้องส่งต่อมาสู่เอ็นพีแอลก็ใช้ระยะเวลาอีก 90 วัน หรือ 3 เดือน ก็คงจะทำให้ตัวเลขเอ็นพีแอลยังขยับเพิ่มอยู่บ้าง แต่ก็เป็นระดับที่ระบบธนาคารยังบริหารจัดการได้อยู่