xs
xsm
sm
md
lg

พืช ศก.หลัก 5 ชนิดราคาตกต่ำ คาดเม็ดเงินหาย 4.5 หมื่นล้าน บั่นทอนกำลังซื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิเคราะห์ ศก.แบงก์ทหารไทย คาดปี 59 พืช ศก.หลัก 5 ชนิด ราคายังตกต่ำต่อไป ประเมินเม็ดเงินของเกษตรกรจะหายไป 4.5 หมื่นล้านบาท บั่นทอนกำลังซื้อลดลง

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี บมจ.ธนาคารทหารไทย เปิดเผยว่า ปี 2559 นี้ ถือเป็นปีที่ไม่สดใสสำหรับเกษตรกรผู้เพาะปลูก 5 พืชเศรษฐกิจสำคัญ คือ ข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน เนื่องจากมีหลายปัจจัยลบเกิดขึ้นต่อเนื่องข้ามปี เริ่มต้นจากพืชสำคัญอย่าง ข้าว ที่มีมูลค่าผลผลิตกว่า 3.5 แสนล้านบาท ยังประสบปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกข้าวนาปรังได้ในหลายพื้นที่ อีกทั้งราคาข้าวไม่อาจเพิ่มขึ้น แม้ปริมาณผลผลิตลดลง เพราะยังมีข้าวในสต๊อกรัฐบาลกว่า 13 ล้านตัน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า เช่น แอฟริกา และจีน

สำหรับยางพารา และมันสำปะหลัง ที่ส่งออกไปตลาดจีนเป็นหลัก เศรษฐกิจยังคงชะลอตัวกดดันราคาต่อเนื่องในปีนี้ ประกอบกับการเปลี่ยนนโยบายข้าวโพดของจีน ที่อาจกระทบต่อการส่งออกมันสำปะหลัง ซึ่งพึ่งพาตลาดจีนเป็นหลัก ขณะที่อ้อย ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่กดราคาน้ำตาลในตลาดโลก ส่วนปาล์มน้ำมัน ที่ราคาในประเทศสูงกว่าราคาคู่แข่งอย่างมาเลเซีย ก็มีแนวโน้มราคาลดลงจากภาวะสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศมีมากเกินไป

โดยพืชเศรษฐกิจหลัก 5 ชนิด มีมูลค่าผลผลิตที่เกษตรกรขายได้มากกว่า 7.5 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นรายได้ที่กระจายไปสู่ครอบครัวเกษตรกรในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสัดส่วนสูงสุดคิดเป็น 34% มูลค่า 2.54 แสนล้านบาท รองลงมา ภาคใต้ และภาคเหนือ มีสัดส่วน 27% และ 19% คิดเป็นมูลค่า 2.01 และ 1.42 แสนล้านบาทตามลำดับ

จากผลการศึกษาของศูนย์วิเคราะห์ฯ พบว่า มูลค่าผลผลิตของพืชเศรษฐกิจสำคัญที่เกษตรกรจะขายได้ในปี 2559 จะลดลงประมาณ 6% คิดเป็นมูลค่ากว่า 4.52 หมื่นล้านบาท ซึ่งเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีรายได้ลดลงมากที่สุด ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท เกษตรกรภาคใต้เม็ดเงินจากราคายางพารา และปาล์มน้ำมัน หายไปประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท ทำให้กำลังซื้อของเกษตรกรลดลง
กำลังโหลดความคิดเห็น