สธ. เร่งทำงานเชิงรุกลดอุบัติเหตุ ประสานทุกหน่วยงานร่วมลดเจ็บตาย ชี้ ด่านชุมชนช่วยลดอุบัติเหตุปีใหม่ได้ เล็งแก้ปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยแต่เตียงเต็ม เฉพาะเคสเกินศักยภาพ รพ.ชุมชน ไม่เกี่ยวส่งต่อตามความต้องการผู้ป่วย
วันนี้ (14 ธ.ค.) ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ครึ่งทศวรรษกับการเดินหน้าประเทศไทยเพื่อความปลอดภัยทางถนน” ในงานสัมมนาระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 12 ว่า องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรทางถนนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก ขณะที่กลุ่ม 10 อันดับแรกส่วนใหญ่เป็นประเทศแถบทวีปแอฟริกา อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะมีอัตราอุบัติเหตุลดลง แต่ก็ช้าและเกือบคงที่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่สามารถลดได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ อุบัติเหตุจึงยังถือเป็นปัญหาสุขภาพที่น่าห่วงที่สุด เพราะ 1 ใน 3 ของผู้บาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิต เป็นกำลังคนของประเทศ อีกทั้งความสูญเสีย 3.5 แสนล้านบาท มากกว่างบกระทรวงสาธารณสุข ที่ใช้ในการดูแลสุขภาพ ซึ่งจำเป็นต้องเร่งลดอัตราดังกล่าวลงเพื่อให้ประเทศได้นำงบไปใช้ในการพัฒนาประเทศในด้านอื่น
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า สธ. กำหนดให้ความปลอดภัยทางถนนเป็นนโยบายสำคัญและเร่งด่วนในปี 2559 โดยวางแผนเชิงรุก ดังนี้ 1. ยกระดับข้อมูลการบาดเจ็บและเสียชีวิต เพื่อชี้ขนาดปัญหา เชื่อมข้อมูลตายจาก 3 ฐานข้อมูล คือ ใบมรณบัตร ประกันภัย และตำรวจ เพื่อนำไปวิเคราะห์ 2. พัฒนาระบบบริหารจัดการในทุกระดับ เพื่อติดตามสถานการณ์ปัญหา ทำงานเชิงรุก วิเคราะห์จุดเสี่ยง 3. สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือ ป้องกันจุดเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยงอย่างน้อยจังหวัดละ 5 จุด ทุก 3 เดือน ส่งเสริมและสนับสนุนในการสร้างความตระหนักให้เกิดการเรียนรู้ในชุมชน ซึ่งชุมชนต้องมีส่วนร่วม เช่น การตั้งด่านชุมชน และ 4. พัฒนาการรักษาพยาบาลเพิ่มคุณภาพห้องฉุกเฉิน ทั้งรับแจ้งและช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว มาตรฐานการดูแลในโรงพยาบาลและมาตฐานการส่งต่อ
“การทำงานด้านอุบัติเหตุจำเป็นต้องทำตลอดทั้งปี ซึ่งหวังว่าในช่วงเทศกาลปีนี้จะช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุลงได้อีก จากการทำด่านชุมชน หาจุดเสี่ยง ซึ่งแต่ละพื้นที่กำลังรวบรวมข้อมูลซึ่งจะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงค่อยๆเกิดขึ้นในปีนี้ รวมทั้งการทำฐานข้อมูลให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และจะประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาเรื่องนี้” รมว.สธ. กล่าวและว่า สำหรับมาตรฐานเรื่องการส่งต่อผู้ป่วยนั้น ปัจจุบันมีระบบการส่งต่อข้อมูลอย่างรวดเร็วผ่านอินเทอร์เน็ตทั้งข้อมูลและภาพ ซึ่งจะต้องนำมาพัฒนาใช้ต่อไป นอกจากนี้ ได้มีการประชุมในเรื่องระบบการส่งต่อในเขตสุขภาพเพื่อแก้ปัญหาเตียงเต็ม โดยต้องเป็นหน้าที่ของผู้บริหารของแต่ละเขต ที่จะต้องมีข้อมูลการบริหารจัดการเตียงภายในเขต หรือการส่งต่อข้ามเขต ไม่ให้เกิดปัญหาเตียงเต็มจนส่งต่อไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นในทันที แต่ต้องค่อย ๆ แก้และปรับไป โดยเฉพาะในส่วนของโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ที่ไม่สามารถให้บริการได้ในบางเคส แต่ทั้งนี้ไม่ใช่การทำระบบส่งต่อไปตามความต้องการของผู้ป่วย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่