สธ.เล็งขยายคลินิกไตเรื้อรังลง รพ.ชุมชนในปี 2559 ดูแลผู้ป่วยเบาหวาน-ความดันก่อนไตเสื่อม ยึด "คลองขลุงโมเดล" เป็นคลินิกต้นแบบ หลังพบช่วยยืดเวลาล้างไตได้ 7 ปี
วันนี้ (12 พ.ย.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าว “การลดผู้ป่วยไตเรื้อรังจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง” ว่า ขณะนี้ไทยมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังประมาณ 7.6 ล้านคน จำนวนนี้เป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายประมาณกว่า 70,000 คน ต้องรับการฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง โดยโรคเบาหวานเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อนไตเรื้อรัง ร้อยละ 40.7 ความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุร้อยละ 27.3 สร้างความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วยและเสียค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือสิทธิการรักษา เช่น ค่าเดินทาง ขาดรายได้จากการหยุดงาน เป็นต้น ทำให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบค่ารักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ปีละกว่า 10,000 ล้านบาท สธ.จึงได้ปรับกระบวนการดูแลผู้ป่วยเบาหวานและความดันที่มีภาวะแทรกซ้อนทางไต เพื่อป้องกันและชะลอความเสื่อมของไต โดยตั้งคลินิกโรคไตเรื้อรัง (CKD Clinic) ใน รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไปทุกแห่ง ซึ่งในปี 2559 จะขยายใน รพ.ชุมชนขนาดใหญ่และ รพ.ชุมชนที่มีสหวิชาชีพ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพ และนักโภชนากร ในการดูแลแบบองค์รวม เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
"ทีมสหวิชาชีพ ได้แก่ การรักษาตามมาตรฐานจากแพทย์ การตรวจวัดค่าดัชนีมวลกาย วัดรอบเอว จากพยาบาล วิธีการใช้ยา ปรับยา จากเภสัชกร แนะนำการออกกำลังกายจากนักกายภาพบำบัด แนะนำอาหารสำหรับโรคไต อาหารโปรตีนต่ำ อาหารลดเค็มจากโภชนากรหรือนักกำหนดอาหาร นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายเยี่ยมบ้านหรือทีมรักไต ประกอบด้วย พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุข ออกไปวัดความดันโลหิต ตรวจการใช้ยา บันทึกรายการอาหาร เก็บข้อมูลการรับประทานอาหาร ปรุงอาหารให้เหมาะกับผู้ป่วย และติดตามการออกกำลังกาย" ปลัด สธ. กล่าว
นพ.ชาตรี บานชื่น ที่ปรึกษา รมว.สธ. กล่าวว่า รูปแบบ “คลินิกโรคไตเรื้อรัง” นั้น นำมาจาก คิลินกโรคไตเรื้อรังของ อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร ที่บูรณาการการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังด้วยทีมสหวิชาชีพ พบว่า ช่วยชะลอความเสื่อมของไตด้วยการรักษาที่เหมาะกับระยะความเสื่อมของไต ควบคู่กับการปรับพฤติกรรม ช่วยยืดเวลาล้างไตได้ประมาณ 7 ปี โดยที่ จ.กำแพงเพชรมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง 20,000 คน มีไตวายระยะสุดท้ายต้องล้างไตประมาณร้อยละ 5 ค่าล้างไตประมาณ 200,000 บาทต่อราย/ปี เมื่อมีการดูแลในคลินิกแบบบูรณาการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการล้างไต 200 ล้านบาทต่อปี
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่